“ตรีนุช” เสิร์ฟอาหารเช้าเพื่อน้อง

เสมา 1 เปิดโครงการ “อาหารเช้าเพื่อน้อง : นักเรียนอิ่มท้อง ผู้ปกครองอิ่มใจ” นำร่องปัตตานีจังหวัดแรก เล็งขยายทั่วประเทศ แก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก หลังพบเด็กอดอาหารเช้ากันมาก

วันที่(3 พ.ย.) ที่สำนักงานศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) จังหวัดปัตตานี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดโครงการ “อาหารเช้าเพื่อน้อง : นักเรียนอิ่มท้อง ผู้ปกครองอิ่มใจ” ว่า จากการรายงานของ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และการลงพื้นที่ตรวจราชการ ทำให้ทราบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ และความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก น้องๆในหลายครอบครัวไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการในเด็ก เพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนรู้ของนักเรียน ลดความเสี่ยงการเกิดโรคในเด็กวัยเรียน ตลอดจนช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยการจัดหาอาหารเช้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนให้กับนักเรียน

” การได้รับสารอาหารที่เพียงพอ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กเล็กและนักเรียนในวัยเรียน ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโต และต้องการสารอาหารที่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ มาใช้ในการพัฒนากำลังกาย กำลังสมองอย่างเต็มที่ ซึ่งการได้รับสารอาหารที่เพียงพอนั้น จะช่วยให้น้องๆมีร่างกายที่แข็งแรง และมีสติปัญญาที่เฉียบคม นอกจากนี้เมื่อน้องๆ อิ่มท้องก็นำมาซึ่งความอิ่มใจ คือ มีจิตใจที่พร้อมที่จะเรียนรู้ และเมื่อทั้งหมดทั้งมวลนี้ประกอบกัน ย่อมส่งผลดีต่อการจัดการ เรียนรู้ของทุกฝ่าย ทั้งเด็ก ๆ คุณครู รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทุกคน” นางสาวตรีนุช กล่าว

รมว.ศธ. กล่าวด้วยว่า วันนี้เราได้นำร่องโครงการฯที่ปัตตานีเป็นจังหวัดแรก ด้วยเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้ลูกหลานของพี่น้องชาวปัตตานีทุกคน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ อันจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและสันติสุข ให้เกิดกับจังหวัดปัตตานี และพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันก็อยากฝากความห่วงใยถึงพี่น้องชาวปัตตานี และพวกเราทุกคนว่า ขอให้เชื่อมั่นในการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเราจริงจัง และจริงใจในการแก้ไขปัญหา การให้ความดูแลช่วยเหลือพี่น้องทุกคน เรามีนโยบายการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ที่มุ่งสร้างคุณภาพชีวิต และสุขภาวะที่ ดีสำหรับเด็กไทย และจะขยายไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และขอขอบคุณกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา สพฐ. ตลอดจนทุกท่านที่ได้ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียน และประชาชนของประเทศมาโดยตลอด

ด้าน ดร.อัมพร กล่าวว่า สพฐ.ได้กำหนดให้จังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากจังหวัดปัตตานี เป็นพื้นที่ที่มีภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนสูงถึงร้อยละ 31.16 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยภาวะทุพโภชนาการของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา ประกอบกับพื้นที่นี้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความแตกต่างระหว่าง เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราและอาชีพประมงเป็นหลัก ทำให้ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลนักเรียน เพราะต้องออกไปประกอบอาชีพตั้งแต่เช้ามืด นักเรียนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับประทานอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียน และสพฐ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของ นักเรียน และประชาชนในพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็ง โดยใช้เงินดอกผลกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน .