กรมทางหลวงชนบท พัฒนาเส้นทางรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้าเชื่อมการขนส่งจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ภาคตะวันออก ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก่อสร้างถนนสาย นย.3007 จ.นครนายก ระยะทางกว่า 18 กิโลเมตร

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3007 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 – บ้านคลอง 33 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ภาคตะวันออก รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายก ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่าทช.มีแผนในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์บนเส้นทางในโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วทุกภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าให้มีความสะดวกรวดเร็ว ลดต้นทุนด้านเวลา รองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ดังนั้น ทช.จึงดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3007 จังหวัดนครนายก เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจากแหล่งผลิตสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปสู่ตลาดและผู้บริโภค ซึ่งตลอดเส้นทางที่โครงการตัดผ่านจะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการสร้างทางเลือกเพิ่มเติมในการเดินทาง แก้ไขปัญหาการจราจรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยการก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 0+000 แยกถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 (รังสิต – นครนายก บริเวณ กม.ที่ 47+300) และสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 18+368 ซึ่งบรรจบกับถนนทางหลวงชนบทสาย นย.2005 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33 (สระบุรี – นครนายก) รวมระยะทางตลอดโครงการ 18.368 กิโลเมตร และสามารถเชื่อมต่อไปยังถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3001 (องครักษ์ – บางน้ำเปรี้ยว) ซึ่งเป็นเส้นทางสนับสนุนการขนส่งสินค้าเข้าสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จังหวัดฉะเชิงเทรา สนามบินสุวรรณภูมิ และท่าเรือแหลมฉบัง

สำหรับการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย นย.3007 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 305 – บ้านคลอง 33 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เป็นการก่อสร้างผิวจราจรแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีตโดยขยายช่องจราจรเพิ่มจากถนนเดิม 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร และก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามทางรถไฟและคลองชลประทาน รวมทั้งหมด 9 แห่ง พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง
สัญญาณไฟจราจร ป้ายเตือน และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยตลอดเส้นทาง โดยใช้งบประมาณ 716.350 ล้านบาท (เจ็ดร้อยสิบหกล้านสามแสนห้าหมื่นบาท) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินงานก่อสร้างผิวทางจราจรและงานก่อสร้างสะพาน มีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 21 และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ในช่วงกลางปี 2566