สศท.6 แนะสินค้า Future Crop 6 ชนิด ปลูกเสริมหรือทดแทน ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังพื้นที่ S3,N

นายชัฐพล สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ของทั้ง 9 จังหวัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด สมุทรปราการ) ซึ่ง สศท.6 ได้ศึกษาสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) พบว่า ไผ่ หญ้าเนเปียร์ โกโก้ มะพร้าวน้ำหอม มะม่วงน้ำดอกไม้ และกุ้งก้ามกราม เป็น 6 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าการผลิตข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) รวมทั้งพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติซ้ำซากและพื้นที่เกิดโรคระบาดสะสม ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงในพื้นที่ไม่เหมาะสม

หากพิจารณาผลตอบแทนสุทธิจากการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N)  ของข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง พบว่า ข้าวนาปี (ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ตราด)  ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,643 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 644 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง (ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว ตราด) ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,213 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 687 บาท/ไร่ ยางพารา (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 3,515 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ได้ผลตอบแทนสุทธิ 48 บาท/ไร่ และมันสำปะหลัง (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี และสระแก้ว) ในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 1,639 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) เกษตรกรขาดทุน 85 บาท/ไร่ ซึ่งหากพิจารณาสินค้าเกษตรทางเลือกทั้ง 6 ชนิด ที่สามารถปลูกเสริมหรือทดแทนข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ของพื้นที่เป้าหมายทั้ง 9 จังหวัด สามารถจำแนกเป็นรายชนิด ดังนี้

ไผ่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,212 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 7,921 บาท/ไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก          และสระแก้ว ซึ่งพบว่าผลผลิตหน่อและกิ่งพันธุ์ไผ่มีเพียงพอกับปริมาณความต้องการ แต่ในส่วนของลำพื้นที่เป้าหมายทั้ง 7 จังหวัด สามารถผลิตได้เพียง 819,070 ลำ ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวนมากถึง 6,776,000 ลำ ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 5,956,930 ลำ ควรส่งเสริมการปลูกไผ่เพื่อใช้ลำในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 11,914 ไร่

หญ้าเนเปียร์ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 25,929 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 4,687 บาท/ไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าว และมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระแก้วและรอยต่อในอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 2 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 477,523 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 1,468,563 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 991,040 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกหญ้าอาหารสัตว์ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 36,328 ไร่ เพื่อให้โคมีหญ้ากินครบทุกวัน

โกโก้ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 10,218 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 9,138 บาท/ไร่ สามารถปลูกทดแทนยางพารา พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ตราด และระยอง ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 3 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 2,141 ตัน และมีพื้นที่ปลูกแล้วยังไม่ให้ผลอีกจำนวน 1,290 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 22,158 – 27,158 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 20,868 – 25,868 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกโกโก้ในพื้นที่เป้าหมายประมาณ 16,231 – 20,120 ไร่

มะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรปลูกแบบสวนเดี่ยว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,236 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 23,228 บาท/ไร่ หากปลูกแบบขอบบ่อหรือผสมนาข้าว มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 4,403 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 11,689 บาท/ไร่   สามารถปลูกเสริมหรือทดแทนข้าว พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 4 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 30,382 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 43,300 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 12,918 ตัน ควรส่งเสริมการปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 4,300 ไร่

 มะม่วงน้ำดอกไม้ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 11,548 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 13,687 บาท/ไร่ สามารถปลูกทดแทนข้าวและมันสำปะหลัง พื้นที่เป้าหมายในการปลูก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สมุทรปราการ และอำเภอสอยดาว อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี พื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 70,000 ตัน ซึ่งปริมาณของผลผลิต มีความสมดุลกับความต้องการของตลาด

กุ้งก้ามกราม ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 36,705 บาท/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ 8,417 บาท/ไร่ สามารถเลี้ยงทดแทนการปลูกข้าว พื้นที่เป้าหมายในการผลิต ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี นครนายก และสมุทรปราการ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายทั้ง 5 จังหวัด สามารถผลิตได้ จำนวน 2,828 ตัน ในขณะที่ปริมาณความต้องการใช้ในพื้นที่เป้าหมาย มีจำนวน 2,952 – 4,428 ตัน ซึ่งยังขาดปริมาณผลผลิต จำนวน 124 – 1,600 ตัน ควรส่งเสริมให้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่เป้าหมายประมาณ 714 – 9,217 ไร่

ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาดังกล่าว สศท.6 ได้นำเสนอในที่ประชุมทางไกล (Online Focus Group) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนส่วนราชการ รวมทั้งผู้แทนเกษตรกร เพื่อนำเสนอแนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่และรับฟังความคิดเห็น ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนเห็นชอบในสินค้าทางเลือกระดับภาคที่นำเสนอทั้ง 6 ชนิด รวมทั้งมาตรการที่เสนอ ซึ่งข้อเสนอในที่ประชุมภาพรวมให้พิจารณาเรื่องน้ำ พื้นที่ความเหมาะสม ตลาดนำการผลิตต้องมีแผนการรองรับและควรพิจารณาเรื่องพืชที่มีอยู่แล้วและสร้างมูลค่า ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ควรสนับสนุนองค์ความรู้ให้เกษตรกรให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น นอกจากพืชทางเลือกทั้ง 6 ชนิดที่เสนอมาแล้วนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของพืชสมุนไพร อินทผาลัม พริกไทย น้อยหน่า และไข่ไก่ รวมถึงสินค้าที่มีโอกาสทางการตลาดเพื่อการผลิตที่ตอบโจทย์ในทุกพื้นที่ ประกอบกับควรศึกษาข้อมูลต้นทุน ผลตอบแทน และเรื่องการตลาดอย่างรอบคอบ หากท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมด้านข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.6 โทร.03 835 1398 หรืออีเมล zone6@oae.go.th