“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ เดินหน้าผลักดันปรับปรุง กม.ลิขสิทธิ์ มุ่งแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ ตั้งเป้าพาไทยหลุดบัญชี WL

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) เดินหน้าผลักดันการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ เพื่อระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตอย่างทันท่วงที ตอบโจทย์การค้าในยุคดิจิทัล รองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ตั้งเป้าพาไทยหลุดบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) สร้างบรรยากาศทางการค้าการลงทุนในสายตาต่างประเทศ

นายสินิตย์ เปิดเผยว่า “กฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ ซึ่งหากพบการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ต้องใช้กระบวนการทางศาลเพื่อระงับการเผยแพร่ และยังไม่มีบทกำหนดโทษแก่ผู้ผลิต ผู้ขายอุปกรณ์ที่ทำขึ้นเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์ กฎหมายใหม่จึงได้ปรับให้เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ช่องทางความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น Facebook YouTube นำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบทันทีเมื่อได้รับการแจ้งเตือน โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล ซึ่งมาตรการที่แก้ไขดังกล่าวจะช่วยให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที”

“ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญแล้ว และกำลังนำเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงสนธิสัญญาที่เกี่ยวกับการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานลิขสิทธิ์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่ไทยมีศักยภาพ และช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้ง ส่งผลเชิงบวกที่จะทำให้ไทยหลุดจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ในการทบทวนรายงานประจำปี 2565” นายสินิตย์ กล่าว

ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า “การแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ ได้ทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้นในการบังคับใช้ทั้งหมด มีการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายให้ทันสมัย สอดคล้องกับกติกาสากล การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งพฤติกรรมของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเนื้อหาที่เป็นหลักเกณฑ์สำคัญก็ได้มีการระบุให้ชัดเจนในตัวกฎหมาย แทนที่จะกำหนดอยู่ในกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวง สำหรับการปรับปรุงที่เป็นสาระสำคัญ เช่น การแจ้งเตือนและเอาออก (Notice and Takedown) การกำหนดนิยามมาตรการทางเทคโนโลยีให้ชัดเจน เพิ่มบทลงโทษให้รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีด้วย เป็นต้น”

“นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจับกุมการกระทำความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุดปัญหาหนึ่งและปรากฏเป็นข่าวอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมาที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจจับกุมโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชา สำหรับกรณีที่กลุ่มศิลปินดารานักแสดงที่อาจถูกเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ประกอบการบางราย ก็ได้มีการเสนอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปกำกับดูแลให้เข้มข้นมากขึ้น และจัดทำสัญญามาตรฐานเพื่อให้ทุกฝ่ายนำไปใช้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ท้ายที่สุด ก็ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมรับฟังต่างก็เห็นด้วยและสนับสนุนการแก้ไขในครั้งนี้” นายเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

————————–