“โคก หนอง นา พช. พระทำ(ธรรม)” ร่วมเอามื้อสามัคคี ลงแขกเกี่ยวข้าว และพัฒนาพื้นที่ตามหลัก “บวร” แปลง CLM วัดศรีอุดม อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงพื้นที่ต้นแบบระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) พื้นที่ 15 ไร่ วัดศรีอุดม บ้านประชาสมบูรณ์ ตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยร่วมกันพัฒนาภูมิทัศน์ และเอามื้อสามัคคี ลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกัน ณ ฐานการเรียนรู้ “คนรักษ์แม่โพสพ” เพื่อให้ความรู้เรื่องการปลูกข้าว การขยายพันธุ์ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายผลสู่ชุมชน รวมถึงสร้างความรัก สามัคคี และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

โอกาสนี้ ได้รับความเมตตาจากพระครูสิริปุญญคม เจ้าคณะตำบลนิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย เจ้าอาวาสวัดศรีอุดม พระนักพัฒนาผู้มีความมุ่งมั่นและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ ได้เมตตากำกับดูแล และสนับสนับสนุนการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ และการลงแขกเกี่ยวข้าว พร้อมเปิดเผยว่า จากการดำเนินการโครงการฯ ของวัดศรีอุดม ที่ผ่านมา พบว่าในช่วงปีแรกนี้ ปัญหาใหญ่คือสภาพดินที่ไม่เหมาะสม เป็นดินเหนียวลูกรัง ขาดความสมบูรณ์แร่ธาตุอาหารในดิน ไม่ได้คัดเมล็ดพันธุ์ดี ข้าวจึงไม่งอกงามเท่าที่ควร จึงมีการปลูกข้าวในแปลงนา ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ถึงวันนี้ได้เวลาเก็บเกี่ยวข้าว และหลังจากนั้นจะมีการหว่านปอเทือง ปลูกถั่วพร้า และเน้นการบำรุงดิน ในปีหน้าและปีต่อๆ ไปข้าวที่ศูนย์ฯ จะต้องได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น นี่ก็เป็นบทเรียนเป็นประสบการณ์ที่ดีให้เกิดการเรียนรู้เพื่อพลิกผืนดินนี้ให้อุดมสมบูรณ์ และสืบสานวิถีข้าว วิถีชาวนากระดูกสันหลังของไทย”

ขณะที่ นางสาวญาดาภา หอมหวล พัฒนาการอำเภอสิรินธร ได้ให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการฯ และการสร้างฐานการเรียนรู้ 9 ฐาน ตลอดจนกำหนดแผนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่แปลง CLM รวมถึงติดตามการดำเนินงานของนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบและร่วมเอามื้อสามัคคีลงแขกเกี่ยวข้าวในครั้งนี้ว่า “ขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มาร่วมใจกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมในครั้งนี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น โดยความร่วมมือของ “บวร” หรือ บ้าน วัด ราชการ เพื่อสืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่ ตลอดจนสร้างความรักสามัคคี และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในชุมชน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป”

นอกจากนั้น คณะติดตามฯ ยังได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่แปลง CLM วัดศรีอุดม แห่งนี้ โดยมี พระสงฆ์เป็นแกนนำในการพัฒนาพื้นที่ตามหลัก “บวร” เพื่อให้พื้นที่แห่งนี้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะคุณธรรม ดังคำกล่าวที่ว่า “พระทำ” รวมกับ “พระธรรม” นั่นเอง พร้อมนี้ ได้มุ่งมั่นที่จะขยายผลการดำเนินโครงการฯ ในวัดศรีอุดม แห่งนี้ ให้เป็นตลาดชุมชน เพื่อจำหน่ายผลผลิตจากโคก หนอง นา ในพื้นที่อำเภอสิรินธร ให้สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันด้วย