สาระชุมชนวัฒนธรรม จุงฉิฮ้าง ตำนาน คนสักมือปกาเกอะญอ กะเหรี่ยง รุ่นสุดท้าย

การสักมือวัฒนธรรมผัวเมียของชาวกะเหรี่ยงเมืองแพร่ ชนรุ่นสุดท้ายก่อนปิด ตำนานความดีงาน วัฒนธรรมของสังคมซึ่งอีกไม่นานคงกลายเป็นเพียงภาพประวัติศาสตร์ เรื่องราวการสักมือของชนเผ่ากะเหรี่ยงหรือ(ปกาเกอะญอ)ที่เล่าขานสืบทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปภายภาคหน้า

นาขั้นบันไดเสร็จแล้วข้าวกำลังเขียวชอุ่ม  ต้นข้าวเตรียมตั้งท้องออกรวงสีทองรอเก็บเกี่ยวในต้นฤดูหนาวนี้  ชาวกะเหรี่ยงบ้านค้างใจ  ต.แม่เกิ๋ง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ยังคงมีวิถีชีวิตเช่นอดีตที่ผ่านมาไม่เปลี่ยนแปลงในสังคมเกษตรกรรม  ลุงวินัย หล้ามา วัย 72 ปี “เก๊าผี” ผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่มีอำนาจเหนือผู้ใหญ่บ้านกำนันถ้าเป็นเรื่องราวในชุมชนภายใต้วัฒนธรรมกะเหรี่ยง  วันนี้ลุงวินัยต้องถอนหายใจแรงๆ และยอมรับกับการเปลี่ยนไปของวัฒนธรรมชุมชนแห่งนี้ ชุมชนบ้านค้างใจ อ.วังชิ้น จ.แพร่

รอยสักมือของสตรีทุกคนที่มีครอบครัว  ถือเป็นวัฒนธรรมอันสำคัญยิ่งของหญิงชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดแพร่ ทุกหมู่บ้านสาวสวยทุกคนใช้เครื่องแต่งกายตามวัฒนธรรมคือการสวมใส่ชุด (สุ่มร่อง)  ขาวบริสุทธิ์ ทั้งชุดแต่งกายตามวัฒนธรรมและพรหมจารีภายใต้การควบคุมโดยวัฒนธรรมและจารีต  ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาบังคับ  เรื่องราวในอดีตที่ลุงวินัยอยากบอกถึง “หญิงสักมือ”  หรือ “จุงฉิฮ้าง” ในภาษาท้องถิ่น  เป็นประเพณีทางจารีตระหว่างจุดเปลี่ยนจากแต่งชุดสุ่มร่อง ไปสู่ชุดสตรีกะเหรี่ยงที่ปักลูกเดือย (เสื้อมะเดือย) ชาวบ้านจะนำเอาเม็ดมะเดือยที่ปลูกไว้เอง เอาเฉพาะที่เม็ดแก่ๆถ้าแก่ดีแล้วก็ตัดมาแล้วนำมาเด็ดมาตากไว้ นำมาทอจนเป็นผืนเสร็จแล้วจะนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อแล้วนำเม็ดมะเดือยมาเย็บแต่งลายให้สวยงานตามใจชอบ เสื้อมะเดือย  นั้นหมายถึงการก้าวย่างเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ของหญิงสาวเหล่านั้น

การมีครอบครัวถือเป็นเรื่องใหญ่ต้องตัดใจทั้งชีวิตสู่ครอบครัวเป็นสุข  สู่ความยั่งยืนของคู่ผัวเมียที่มีเพียงความตายจากกันเท่านั้นที่จะพรากทั้งสองออกกันได้  “จุงฉิฮ้าง” จึงถือเป็นสาระสำคัญก่อนไปถึงความยั่งยืนของสถาบันครอบครัวในสมัยก่อนชาวกะเหรี่ยงเมืองแพร่ไม่ได้เปิดให้คนนอกชาติพันธุ์เข้ามากล้ำกลายในความเป็นครอบครัวได้  จึงมีแต่เพียงหนุ่มสาวคนในเท่านั้นที่จะตัดสินใจ  และก่อนการตัดสินใจมันต้องเกิดจากความรักที่ทั้งสองมีต่อกัน ได้พูดคุยกันเมื่อครั้งประเพณีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้จีบกัน  ความรักจะตกลงปลงใจได้นั้น ญาติผู้ใหญ่ต้องเห็นดีด้วย  แต่ถ้าถึงวันนั้น  การสักมือ หรือ จุงฉิฮ้าง ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ญาติฝ่ายชายจะยอมรับเจ้าสาวคนสวยได้ คือการสักมือลงคาถาอาคมอักขระโบราณเพื่อการอยู่กินอย่างเป็นสุข  มือสีดำนี้จะทำกินดีเป็นมงคล ทำอาหารอร่อยเลิศรสให้สามีรับประทาน  นั้นหมายถึง การสักมือถือเป็นความมั่นใจของญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายยอมรับและพร้อมที่จะมอบสินสอด ไร่ นา สวน สัตว์เลี้ยงวัว ควาย ให้เป็นเครื่องมือทำกินกับหนุ่มสาวครอบครัวใหม่นี้  สักมือจึงถือเป็นเกียรติและหลักประกันไม่ใช่ทะเบียนสมรสเช่นในปัจจุบัน

แม่หลวง ทาจันทร์ ปุ๊ดแมน วัย 92 ปี หญิงชราในชุมชนบ้านค้างใจ พูดเป็นภาษากะเหรี่ยงเล่าถึงเรื่องราวในอดีตถึงการสักมือว่า  “มันเป็นความใผ่ฝันของสาวๆ ที่จะมีครอบครัว ที่ต้องเดินมาถึงวัน จุงฉิฮ้าง  ของยายนั้นก็เช่นกัน มีคนรักในหมู่บ้าน เตรียมจะเดินชีวิตไปด้วยกัน  ญาติๆ จึงประกอบพิธีสักมือ ผู้นำทางจิตวิญญาณด้านพิธีสักมือที่บ้านแม่สิน  มาพร้อมกับอุปกรณ์สักมือ  ญาติๆ มาพร้อมกันช่วยกันดูแลเป็นอย่างดี  ผู้เฒ่าผู้สักมือให้วางมือลงบนขันน้ำ  จากนั้นเอาน้ำยางไม้สีดำทาบนหลังมือใช้เข็มสักระดมปักลงไป  เส้นทางของเข็มคือตัวอักษรมงคลถูกฝังจารึกไว้บนผิวหนังหลังมือขาวเนียนของหญิงสาว  เจ็บปวดจนน้ำตาปริ่มแต่ก็รู้สึกภูมิใจที่ต้องอดทนเพื่อไปสู่พิธีวิวาห์ให้ได้  ของยายใช้เวลาราว 1 วันก็สักเสร็จ  ยายอดทนมากสมัยนั้นสาวๆ เพราะอยากมีครอบครัว แต่มีสาวบางคนทนไม่ไหว  สะบัดมือวิ่งหนีออกไป  แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาสักต่อบางรายใช้เวลานาน 2 – 3 วันกว่าจะเสร็จทั้ง 2 มือ  หลังสักเสร็จผิวหนังจะบวมมาก  เลือดออกจนหลังมือเป็นสีแดงทับความดำของยางไม้ไปอย่างสิ้นเชิง  คืนนั้นนอนปวดผิวหนังทั้งคืนแต่ก็นึกถึงคนรักมีทำให้ผ่อนคลายไปได้ โดยจะสักก่อนเข้าพิธีแต่งงานประมาณ 3 วัน”

แม่หลวง  อุดเสาร์  แสอ้อย  ยายชราผู้มีหลังมือดำด้วยรอยสักอีกท่านหนึ่งอายุ 88 ปีแล้ว ตนเอง ได้สักมือตั้งแต่อายุ 17 ปี เพราะครอบครัวตั้งแต่ตอนนั้น ยายกับตา เข้าสู่พิธีแต่งงาน ก็ต้องเดินไปตามประเพณี ด้วยเก๊าผีประจำหมู่บ้าน พาไปบอกกล่าวกับญาติทั้งสองฝ่าย ทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว  โลกแห่งความตายของบรรพบุรุษไม่ได้ตายไปจากใจเรา พวกเขารับรู้การกระทำของเราเสมอ ด้วยการเสี่ยงทาย (กระดูกไก่) ตามคำทำนายโบราณของชาวกะเหรี่ยงที่สืบทอดกันมา ให้เห็นว่า  พวกเขารับรู้การครองเรือนของเราทั้งสอง  ทุกคนทั้งในโลกนี้ และ โลกที่มองไม่เห็นช่วยกันพาเราไปสู่ความสำเร็จในชีวิตที่ยั่งยืน  ยายภูมิใจที่ได้สักมือ  ยายจึงไม่คิดนอกใจจากตาจนปัจจุบันมีลูกหลานมากมาย ตาจากไปแล้ว แต่ยายก็ยังภูมิใจที่ได้เข้าสู่พิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวกะเหรี่ยงของเรา

ประเพณีสักมือ หรือ จุงฉิฮ้าง ของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงเมืองแพร่  ปัจจุบันไม่มีการสืบทอดแล้ว เหลือร่องรอยการสักมืออยู่เพียงไม่ถึง 10 คนทั้งจังหวัดแพร่  วัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้เปลี่ยนไปจากความเจริญของบ้านเมืองและการพัฒนาในยุคใหม่ทำให้การสักมือไม่มีผู้ปฏิบัติสืบทอดต่อไป  รวมทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณที่ทำหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ นั้นไม่มีผู้สืบทอดอีกต่อไปเช่นกัน ถือเป็นการปิดตำนานจารีตที่มองว่าเป็นกุศโลบายในการครองเรือนท่ามกลางไร้หลักประกันทางกฎหมาย  จารีตจึงเป็นวิธีการ ที่เกิดพิธีกรรมอันสำคัญจารึกไว้ที่ฝ่ามือ  เหมือนการตีตราจอง  เหมือนกับการห้ามไปกระทำผิดลูกเมียใคร  จากสถิติพบว่า  ในอดีตไม่มีครอบครัวที่ผ่านประเพณีหย่าร้างด้วยความขัดแย้ง ผิดลูกผิดเมีย มีเพียงความตายจากกันเท่านั้นที่ทำให้ผ่ายใดฝ่ายหนึ่งอยู่คนเดียว ต่างจากยุคปัจจุบันที่ สังคมไทยกลายเป็นปัญหาการหย่าร้างสูงมาก  สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาสังคมที่ยากจะแก้ไข

พระพนม เจ้าอาวาสวัดนาห้าง เล่าว่า  “อาตมาเป็นชาวกะเหรี่ยงบ้านนี้  ออกไปร่ำเรียนต่างพื้นที่แล้วก็ต้องกลับมาทำหน้าที่จรรโลงพระศาสนาในพื้นที่ให้สืบทอดต่อไป  อาตมาเห็นว่า วัฒนธรรมบ้านเราเริ่มหายไป หลายอย่างสังคมมองว่า เป็นการกดขี่  หลายอย่างไม่มีผู้ถือปฏิบัติ เพราะมีหลักประกันอื่นมาแทน  เรื่องเก่าๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก  จึงน่าเสียดายที่  การสักมือของหญิงชาวกะเหรี่ยงต้องหยุดลง  ถ้าคิดในเชิงพุทธศาสนาก็คงเปรียบได้จากหลักไตรลักษณ์  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ และ ก็  ดับไป  วัฒนธรรมมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ  แต่ถ้ากลับมาวิเคราะห์ก็จะพบว่า  จารีตเดิมสร้างผล ส่งผลได้ดีกว่า กฎหมายในปัจจุบันเสียอีก  ดังนั้นจึงคิดว่า ชาติพันธุ์ทุกชาติพันธุ์ไม่เพียงกะเหรี่ยงเมืองแพร่เท่านั้น  คนรุ่นใหม่น่าจะมองเห็นความสำคัญที่จะสืบทอดไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  อะไรที่มันดีก็ควรรักษาไว้  ณ  วันนี้   ภาษาพูด  เครื่องแต่งกาย วัฒนธรรมการดำรงชีวิต  ความเคารพธรรมชาติ เช่น ประเพณี  ผีขุนห้วย  ผีขุนน้ำ ผีเจ้าบ้าน  (การเลี้ยงผีขุนน้ำ) ทำเพื่อขอฝนซึ่งหากปีไหนที่ฝนแล้งชาวบ้านจะร่วมกันจัดพิธีในลำห้วยแม่พุง ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน จะนำหมูเป็นๆมาเซ่นสังเวยผีป่าที่ปกปักรักษาลำห้วยแม่พุง เพื่อขอให้ฝนตกตามฤดูกาล ประเพณี (เลี้ยงผีเรือน) เป็นประเพณีที่เลี้ยงกันเฉพาะในครอบครัวของผู้ที่ต้องการเลี้ยงเท่านั้น วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงการเลี้ยงผีเรือนจะจัดทำกันในหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าครอบครัวใดลูกชายหรือลูกสาวจะแต่งงาน พ่อแม่ก็จะต้องทำพิธีเลี้ยงผีเรือนก่อนออกเรือน   ที่ยังมีการถือปฏิบัติอยู่น่าจะช่วยกันสืบทอดต่อไป อย่างให้เหมือนการสักมือ  ที่พวกเราชาวกะเหรี่ยงได้แต่เห็น  ความดีงามของการสักมือควรบันทึกไว้เป็นข้อมูลชุมชนที่มีคุณค่าในการพัฒนาสถาบันครอบครัว  การพัฒนาชีวิตหนุ่มสาวได้ดีทีเดียว”

นายรณเกียรติ คำน้อย  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 15 บ้านแม่พุงหลวง ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เล่าว่า สิ่งเหล่านี้เรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องน่าเสียดายในหลายๆ เรื่องที่ต้องหมดไปด้วยความเจริญเข้ามาแทนที  เครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทั้งภาคเหนือ และ ภาคตะวันตก  พากันผลักดันให้มีการส่งเสริม สืบทอด และเก็บข้อมูลวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยงจารึกไว้ในในแผ่นดิน  ด้วยมติ  ครม. ว่าด้วยการฟื้นฟูวัฒนธรรมกะเหรี่ยง มติ ครม.นี้ผ่านมานานเกือบ 10 ปีแล้ว มีศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ทำหน้าที่กระตุ้นและผลักดันให้  วัฒนธรรมกะเหรี่ยงได้สืบทอดไปยังคนรุ่นต่อๆ ไปให้มากที่สุด  ส่วนที่หายไปแล้วก็ควรถอดบทเรียนนำกับมาฟื้นฟู หรือเก็บไว้บอกเล่าถึงความดีงาม  เช่น การปลูกพืชด้วยระบบหมุนเวียน  วัฒนธรรมระหว่างคนกับดิน น้ำ ป่าไม้ บ้านที่อยู่อาศัย  การเลี้ยงผี วัฒนธรรมกับพุทธศาสนา การสักมือ ถือเป็นวัฒนธรรมที่ใช้ในการควบคุมชีวิตคู่ของชาวกะเหรี่ยง ให้เข้าสู่การแต่งงานอย่างงดงามและยั่งยืน ควรเก็บเป็นเรื่องราวไว้เล่าสู่กันฟัง  เล่าสู่ลูกสู่หลานสืบทอดต่อไป

รอยสักมือที่ปรากฏอยู่ในชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง  เหลือเพียงหญิงชรา 9 คนเท่านั้น กระจายอยู่ตามหมู่บ้าน หมู่บ้านละคนสองคน อายุ 85 ปีขึ้นไป ซึ่งการสักมือมาพร้อมกับการเจาะหูของผู้หญิงให้ใหญ่ใส่งาช้างเป็นเครื่องประดับอันล้ำค่าและมีคติให้คิดการใส่งาช้างที่หูทำให้สำนึกเสมอว่า  ไม่ควรเชื่อคนง่ายจนกลายเป็นชื่อเรียกของชาวกะเหรี่ยงเมืองแพร่ว่า “กะเหรี่ยงหูยาน” ผู้ชายที่เข้าสู่การแต่งงานก็ต้องสักตั้งแต่บั้นเอวไปจนถึงหัวเขา เว้นเพียงอวัยวะเพศเท่านั้นที่เป็นเป็นสีผิวธรรมชาติ  วัฒนธรรมนี้หายไปแล้วใครจะทำหน้าที่บันทึกและบอกเล่าความดีงามเหล่านี้ให้สังคมแห่งการพัฒนาได้รู้จักและเข้าใจ  รอยสักในปัจจุบันมิได้เสื่อมไปจากความนิยมแต่หากนำไปใช้ในรสนิยมใหม่ที่อาจไร้คุณค่าเชิงวัฒนธรรมครอบครัว แต่ยังคงมีเสน่ห์ของศิลปะได้ไม่เปลี่ยนแปลง  วันนี้จึงเหลือเพียงตำนาน  หญิงสักมือ  จุงฉิฮ้าง  ปกาเกอะญอ  แห่งเมือง แพร่ เท่านั้น

/ภาพ/ ราเชนทร์  โชติถนอมกิจ

/เรียบเรียง: ราเชนทร์ โชติถนอมกิจ / สมโรจน์  สำราญชลารัตน