ชป.เดินหน้าเร่งระบายน้ำเจ้าพระยา-ท่าจีน /เตรียมพร้อมรับมือฝนใต้

ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมสถานการณ์น้ำดีขึ้นโดยลำดับ กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งหน้า ในขณะที่ภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือเข้าสู่ฤดูฝน ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (1 พ.ย. 64)  อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 58,603 ล้าน ลบ. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 34,674 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 18,004  ล้าน ลบ. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,440 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 7,744 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้รวมกันอีกประมาณ 10,476 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (1 พ.ย. 64) ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,355 ลบ.ม.วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,257 ลบ.ม./วินาที  แนวโน้มระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยปรับลดการรับน้ำเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน ผ่านประตูระบายน้ำพลเทพ ลงเหลือ 60 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนตั้งแต่ จ.ชัยนาท ทยอยลดลงตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งบางแห่ง ในเขต อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี และ อ.บางเลน อ.นครไชยศรี จ.นครปฐม ซึ่งได้มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนไปแล้ว 109 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำอีกจำนวน 22 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด จะทำให้สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีนดีขึ้นตามลำดับในระยะต่อไป

 อนึ่ง เนื่องจากได้สิ้นสุดฤดูฝนของทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางแล้ว จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ พิจารณาการระบายน้ำของจากพื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมปรับแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการเก็บกักน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ตามข้อสั่งการของรัฐบาล และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

 สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูน้ำฝน ให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือน้ำหลากที่กรมกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ พิจารณาปรับการระบายน้ำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด พร้อมกับเน้นย้ำให้แจ้งเตือนก่อนการระบายน้ำทุกครั้ง เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน นอกจากนี้ ยังได้เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที และร่วมบูรณาการกับหน่วยงานในท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง ขอให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถร้องขอไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา