ชป.เดินหน้าระบายน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ

กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา -ท่าจีน -ป่าสักอย่างต่อเนื่อง หวังลดผลกระทบประชาชนและให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช้าวันนี้ (1 พ.ย.64) ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,355 ลบ.ม./วินาที ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 2,257 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลง ดังนี้

💥  อ.เมือง จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำลดลง 11 ซม.

💥  อ.เมือง จ.อ่างทอง ระดับน้ำลดลง 9 ซม.

ด้านลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระบายน้ำในอัตรา 350 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนป่าสักฯ มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีน้ำท่าที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ดังนี้

💥 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำยังทรงตัว

💥 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2 ซม.

💥 อ.เมือง จ.สระบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 14 ซม.

💥 อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำลดลง 5 ซม.

ส่วนที่เขื่อนพระรามหก ได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 400 ลบ.ม./วินาที  พร้อมกับปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ตามศักยภาพของคลอง โดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ริมน้ำ เพื่อแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่ จ.พระนครศรีอยุธยา

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน เนื่องจากมีฝนตกในพื้นที่ ประกอบกับมีการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำเจ้าพระยาลงแม่น้ำท่าจีนผ่านทางประตูระบายน้ำพลเทพ และมีอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนเพิ่มสูงขึ้น จึงได้ปรับลดการระบายน้ำผ่าน ปตร.พลเทพ ให้เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที และปรับลดการระบายน้ำที่ ปตร.ท่าโบสถ์ ปตร.กระเสียว-สุพรรณ และ ปตร.โพธิ์พระยา รวมทั้งหน่วงน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำและผันน้ำไปยังคลองที่ยังสามารถรับน้ำได้ อาทิ ด้านฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง คลองมะขามเฒ่า-กระเสียว ส่วนด้านฝั่งตะวันออก ประกอบด้วย คลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่าน ปตร.มโนรมย์ และคลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช เป็นต้น โดยปัจจุบัน ผันน้ำเข้าทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 391 ลบ.ม./วินาที เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา