อลังการ!! 50 ผืนสุดท้าย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รอบตัดสิน ในเวทีประกวดระดับประเทศ

วันที่ 30 ตุลาคม 2564 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานคณะกรรมการการตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รอบตัดสิน ในระดับประเทศ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน คณะกรรมการประกวดผ้าลายพระราชทาน และคณะผู้บริหาร ข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมรับเสด็จฯ ณ ห้องทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและภูมิปัญญาไทยเพื่อฟื้นฟูมรดกงานศิลป์ล้ำค่าของแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง ด้วยพระอัจฉริยภาพทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทยไม่ว่าจะในชนบทและเมือง พระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทยอันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ทำให้พสกรนิกรชาวไทยกล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั้งเดิม คุณูปการที่เกิดขึ้นจึงไม่เพียงแต่วงการทอผ้าเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการสร้างคุณค่าในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ประเภทอื่น ๆ อีกด้วยในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย ทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถ ในด้านการออกแบบ เกิดความเชื่อมั่นว่า ความงดงามของผ้าไทย จะคงอยู่คู่กับสังคมไทย โดยได้พระราชทานพระอนุญาตให้ กรมการพัฒนาชุมชน และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ด้วยเรื่องราว และความหมายชวนประทับใจ เป็นการยกระดับผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืนเปรียบดังแสงสว่าง แห่งวิถีความงดงามของอัตลักษณ์ไทย ส่งผ่านไปสู่พี่น้องประชาชน นำทางให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยให้คงอยู่สืบไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ดำเนินการจัดการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ และเพื่อพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภท ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยมีประเภทผ้าที่ส่งเข้าประกวด 15 ประเภท ประกอบด้วย ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอขึ้นไป ผ้าขิด ผ้ายกดอก ผ้ายกเล็ก ผ้ายกใหญ่ ผ้าจกทั้งผืน ผ้าตีนจก ผ้าแพรวา ผ้าลายน้ำไหล ผ้าเทคนิคผสม ผ้าบาติก มัดย้อม ผ้าพิมพ์ลาย ผ้าปัก และผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ โดยได้ดำเนินการแถลงข่าวเปิดรับสมัครผู้สนใจส่งผ้าเข้าประกวด เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 และจัดประกวดระดับภาค 4 ภาค ระหว่างวันที่ 10 – 26 มิถุนายน 2564

บัดนี้ ผลการประกวดผ้าลายพระราชทาน ในระดับภาคได้ดำเนินการ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีผู้ประกอบการ/ช่างทอผ้าสมัครส่งผ้าเข้าประกวดใน 15 ประเภท รวมทั้งสิ้น 3,214 ผืน มีผ้าผ่านเข้ารอบการประกวดระดับภาค จำนวน 309 ผืน และผลการประกวดในรอบ Semi Final มีผ้าที่ชนะผ่านเข้ารอบการประกวดระดับประเทศ 11 ประเภท รวมจำนวน 50 ผืน จากผู้เข้าประกวด จำนวน 46 คน

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการพิจารณาตัดสินผลงานที่ส่งเข้าประกวดผ้าลายพระราชทานระดับภาค จำนวน 309 ผืน ในรอบรองชนะเลิศ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา จากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย จนได้ผ้าที่โดดเด่น จำนวน 50 ผืน ประกอบด้วย 1) ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ จำนวน 5 ผืน 2) ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป จำนวน 5 ผืน 3) ผ้าขิด จำนวน 6 ผืน 4) ผ้ายกดอก จำนวน 1 ผืน 5) ผ้ายกใหญ่ จำนวน 4 ผืน 6) ผ้ายกเล็ก จำนวน 4 ผืน 7) ผ้าจกทั้งผืน จำนวน 6 ผืน 8) ผ้าแพรวา จำนวน 3 ผืน 9) ผ้าเทคนิคผสม จำนวน 4 ผืน 10) ผ้าบาติก-ผ้ามัดย้อม จำนวน 7 ผืน และ 11) ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ จำนวน 5 ผืน ซึ่งผ้าที่ได้ผ่านการคัดเลือก ล้วนแล้วแต่เป็นผ้าที่มีเทคนิค แสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่มีความสวยงาม และประณีต ซึ่งวันนี้เป็นรอบตัดสินการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในระดับประเทศ

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการผ้าไทยที่ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา” ได้มีพระดำริพระราชทานแก่วงการผ้าไทย ว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ “ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับสู่ชุมชน ส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้เป็นที่นิยม สู่สากล สามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกโอกาส” กรมการพัฒนาชุมชน ขอน้อมนำพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่ายกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย ให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน ด้วยการประกวดลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ครั้งนี้ เป็นการเผยแพร่พระอัฉริยภาพของพระองค์ ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย สิ่งทอ และการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ โดยทรงพระกรุณาแนะแนวทางการพัฒนา ยกระดับ เพิ่มศักยภาพให้กลุ่มหัตถกรรมทั้งหลายได้ใส่ความประณีต ฝีมือสร้างสรรค์ จนเกิดผลงานกว่า 3,215 ผืน

ทั้งนี้ การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”ตามโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทยระดับภาค เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจที่ กรมการพัฒนาชุมชน สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทุกภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสน้อมนำแนวพระราชดำริในวิถีของการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับและคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มทอผ้าทั้งหลายได้พัฒนาฝีมือ ค้นหาเทคนิควิธีการในการผลิตผ้าไทยให้ดีขึ้น เหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ เหนือล้ำไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะคือการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพไทย ที่ทรงริเริ่มนำหัตถกรรมพื้นถิ่น เสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิม และวิถีชีวิตให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างร
ายได้ให้ชาวบ้านอย่างมั่นคง