ปลัด อว. เปิด “จงชิงคัพ” การประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อการตลาดออนไลน์สู่ตลาดจีน 2564 ยกระดับนักศึกษาไทย สร้างความสัมพันธ์การค้าไทย-จีน ส่งเสริมพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สินค้าไทย มุ่งสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ

ปลัด อว. เปิด “จงชิงคัพ” การประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อการตลาดออนไลน์สู่ตลาดจีน 2564 ยกระดับนักศึกษาไทย สร้างความสัมพันธ์การค้าไทย-จีน ส่งเสริมพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สินค้าไทย มุ่งสู่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจผ่านการสร้างช่องทางการค้าให้กับผู้ประกอบการหลังโควิด-19

29 ตุลาคม 2564 : ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวเปิดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ “จงชิงคัพ” (ZHONGQING CUP) การประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อการตลาดออนไลน์สู่ตลาดจีน ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ.2564 ผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Wu Zhiwu กงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์โรม จิรานุกรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ เสิ่น ยี่ ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อ มช . ฝ่ายจีน ร่วมเป็นประธานในการเปิดการแข่งขันดังกล่าวด้วย

ปลัด อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า การแข่งขัน “จงชิงคัพ” เป็นกิจกรรมการแข่งขันที่มีความสร้างสรรค์และท้าทาย เพราะผู้เข้าร่วมต้องมีความรอบรู้ทั้งในด้านทักษะภาษาจีน การออกแบบเนื้อหาเพื่อการสื่อสารการตลาด รวมไปถึงการออกแบบสื่อออนไลน์ดิจิทัลในรูปแบบคลิปวีดีโอ เพื่อสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่าให้กับสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นเพื่อนำเสนอ ประชาสัมพันธ์แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในตลาดจีน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กลุ่มลูกค้าคนจีนยังไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่สินค้าไทยยังสามารถจัดจำหน่ายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนให้กับคนจีนได้ มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจในสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาไทยที่รู้ภาษาจีน เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการสมัยใหม่เชิงดิจิทัลในยุคบูรพาภิวัฒน์ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวง อว. ที่ต้องการบูรณาการงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่สำคัญประเทศไทยและประเทศจีนเป็นมิตรประเทศอย่างยาวนาน ซึ่งความสัมพันธ์ในด้านนี้โดยเฉพาะในระดับนักศึกษาและผู้ประกอบการจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระหว่างประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายมีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

“ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะเจ้าภาพหลักในการจัดการแข่งขัน โดยมีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรมการแข่งขันที่บูรณาการองค์ความรู้รูปแบบสหสาขามาใช้ เป็นโครงสร้างหลักของการแข่งขัน และขอขอบคุณสถานกงสุลใหญ่แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนานักศึกษาไทยในสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดของ อว. โดยทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนหลักด้านงบประมาณสำหรับการจัดการแข่งขันดังกล่าวเป็นปีที่สองติดต่อกันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีเป็นอย่างยิ่งระหว่างไทย-จีนที่มีความสนิทแนบแน่นกันในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีและการศึกษา และสุดท้ายนี้ขอชื่นชมนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกท่านที่ได้เตรียมพร้อมในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้เป็นอย่างดี” ปอว. กล่าวในตอนท้าย

จงชิงคัพ (ZHONGQING CUP) การประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อการตลาดออนไลน์สู่ตลาดจีน เป็นการประกวดนวัตกรรมและการทำสื่อการตลาดออนไลน์สู่ตลาดจีน เป็นการจัดกิจกรรมการแข่งขันเพื่อยกระดับความสามารถของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ด้านการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ภาษาจีน ควบคู่กับการค้าพานิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน และการสื่อสารการตลาดออนไลน์ การแข่งขันได้ประกาศรับสมัครทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม และมีการจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการตลาด และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนสู่ตลาดจีน โดยศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันจัดหลักสูตรฝึกอบรม โดยทีมสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 25 ทีมจาก 12 สถาบันฯ มีจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 119 คน ส่งผลงาน การดำเนินการแข่งขันและตัดสินทั้งหมดใช้ภาษาจีนเป็นหลัก โดยคณะกรรมการจะมาจาก ศูนย์ CIC CAMT สถาบันขงจื่อ KOLชาวจีน และผลโหวตจากคนจีนในกลุ่มวีแชท ทั้งนี้แนวทางต่อยอดเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับนักศึกษาไทยและคนไทยที่มีพื้นฐานภาษาจีน วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี ร่วมกับสถาบันขงจื่อ จะร่วมกันดำเนินการเปิดหลักสูตร DTM for Cross Border E-commerce เพื่อสร้างผู้ประกอบการเชิงดิจิทัลในยุคบูรพาภิวัฒน์ต่อไป