ปภ. แจ้ง 37 จังหวัด เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่าง และน้ำล้นตลิ่ง

วันที่ 26 ต.ค.64 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) ได้รับแจ้งจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติว่า ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากแผนที่ฝนคาดการณ์ (ONE MAP)  ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์กรมหาชน) และคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากของกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรธรณี พบว่าในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม -3 พฤศจิกายน 2564 มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ดังนี้

1.พื้นที่เฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย ขอนแก่น และชัยภูมิ

-ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

-ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ระนอง พังงา ตรัง และสตูล

2.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และอุบลราชธานี

-ภาคกลาง ได้แก่ ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

-ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ยะลา ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

3.พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณแม่น้ำมูล ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี ลำน้ำพรม ได้แก่ ชัยภูมิ แม่น้ำพอง ได้แก่ ขอนแก่น และแม่น้ำชี ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี

-ภาคกลาง บริเวณแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำลพบุรี ได้แก่ ลพบุรี แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ สุพรรณบุรี และนครปฐม แม่น้ำเพชรบุรี ได้แก่ เพชรบุรี แม่น้ำปราณบุรี และแม่น้ำบางสะพาน ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์

-ภาคใต้ บริเวณแม่น้ำตาปี ได้แก่ สุราษฏร์ธานี และคลองท่าดี ได้แก่ นครศรีธรรมราช

กอปภ.ก. จึงได้แจ้งให้ 37 จังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ สถานการณ์ภัย และข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมความพร้อมมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น หากได้รับความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย”รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป