บิ๊กอู๋ ลุยเยอรมัน ดันกุ๊กไทยโกอินเตอร์

รมว.แรงงาน เยี่ยมแรงงานไทยในเยอรมัน ย้ำ ต่างแดนต้องการพ่อครัว-แม่ครัวไทยนับหมื่น

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังจากได้พบปะและเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประกอบการและแรงงานไทยที่ประกอบอาชีพด้านอาหารไทย ณ เมือง Hausach สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ว่าปัจจุบัน ในเยอรมนีมีร้านอาหารไทยกว่า 600 แห่ง และอาหารไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังพบอีกด้วยว่าในต่างประเทศมีความต้องการในตำแหน่งพ่อครัว-แม่ครัวไปทำงานกว่า 4,000 คน อย่างไรก็ตาม แรงงานไทยที่ทำงานในเยอรมนียังต้องการที่จะพัฒนาทักษะ โดยเฉพาะด้านภาษาเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนตามนโยบาย 3A ของกระทรวงแรงงานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการสร้างแรงงานคุณภาพ (Super Worker) โดยจัดให้มีการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับแรงงานไทยในต่างประเทศ ซึ่งในปี 2562 มีเป้าหมายดำเนินการ จำนวน 200 คน ในสาขาที่มีความต้องการในต่างประเทศ ได้แก่ สาขาการประกอบอาหารไทย พนักงานนวดไทย สปาตะวันตกและไทยสัปปายะ โดยก่อนการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขานั้น จะมีการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อม เช่น การให้ความรู้ด้านภาษา กฎหมายแรงงาน และการประกอบธุรกิจในเยอรมนี เป็นต้น จากการติดตามผลผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 สาขาการประกอบอาหารไทย พบว่าแรงงานไทยมีความก้าวหน้าในอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดือนละ 10,000 บาท

ด้านนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนแรงงานไทยที่ผ่านการทดสอบตั้งแต่ปี 2554 ถึง 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,614 คน สำหรับในปี 2562 มีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทยแล้ว 88 คน ประกอบด้วยการทดสอบฯ ในไต้หวัน จำนวน 60 คน และเนเธอแลนด์อีก 28 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในประเทศเดนมาร์ก สเปน และญี่ปุ่น อีกด้วย

การเดินทางในครั้งนี้ ได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่จากสถานกงศุลใหญ่ นายกเทศมนตรี Mr.Wolfgang Hermann นางจิราภรณ์ ไมเออร์-คนัพพ์ ประธานสมาคมบ้านแสนสุข ผศ.พงษ์ศักดิ์ ทรงพระนาม และคณะผู้ดำเนินการจัดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในประเด็นเกี่ยวกับโอกาสความก้าวหน้าในการทำงานในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาทักษะให้กับผู้ประกอบกิจการร้านอาหารไทยและแรงงานไทย เพื่อให้มีทักษะฝีมือที่สูงขึ้น ซึ่งจะได้นำประเด็นเหล่านี้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานให้สอดรับกับความต้องการดังกล่าวต่อไป รมว. กล่าว