รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยม มอบนโยบายแก่กรมเจ้าท่า เตรียมพร้อมเปิดประเทศด้านคมนาคมทางน้ำ รองรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้

วันที่ 26 ตุลาคม 2564 นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า พร้อมด้วย นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปลอดภัย และคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ ดร. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ในโอกาสตรวจเยี่ยม พร้อมมอบนโยบายให้แก่กรมเจ้าท่า รองรับการเปิดประเทศ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1-7 และสาขา และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1- 8 ร่วมประชุม ผ่านระบบทางไกล เพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประเทศด้านคมนาคมทางน้ำ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ณ ห้องประชุมวิสูตรสาครดิษฐ์ ชั้น 4 อาคาร 162 ปี กรมเจ้าท่า

การประชุมเป็นการติดตามนโยบายตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม(ดร. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยสานต่อ 2 นโยบาย ขับเคลื่อน 13 นโยบาย รวม 15 นโยบาย ดังนี้

1.การเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้ล่าช้ากว่าแผน ขอให้กรมเจ้าท่า เร่งขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมตามข้อสั่งการรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม

2.การผลักดันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมและกำชับการใช้พลังงานบริสุทธิ์สำหรับเรือโดยสารสาธารณะ ในแม่น้ำเจ้าพระยา คลองแสนแสบ คลองดำเนินสะดวก และเรือไฟฟ้าที่เดินในทะเล ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

3.การปรับปรุงข้อกฎหมายการขนส่งทางน้ำ ให้มีความทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์ในยุคปัจจุบัน

4.การแก้ไขสิ่งรุกล้ำลำน้ำในแม่น้ำและชายฝั่ง ขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการหารือ เพื่อบริหารจัดการสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

5.จัดทำฐานข้อมูลยานพาหนะทางน้ำทุกประเภท แยกประเภทเขตการเดินเรือ เพื่อจัดระเบียบและกำกับดูแลให้เกิดความปลอดภัย

6.การเตรียมพร้อมการตรวจประเมินจาก IMO ในต้นปี 2566 อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

7.จัดทำแผนความมั่นคงทางทะเล รองรับเส้นทางการเดินเรือในน่านน้ำไทย โดยบูรณการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย

8. การสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง ต้องมีความคงทน แข็งแรงปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ พร้อมการขุดลอกและพัฒนาบำรุงรักษาลำน้ำเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินเรือ

9.Master Plan ฟื้นฟูชายหาด ต้องครอบคลุม เพื่อฟื้นฟูชายหาด เสริมทรายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง และสนับสนุนการท่องเที่ยว โดยในระยะต่อไป มีแผนดำเนินการที่ หาดบางแสน หาดชะอำ และหาดเขาหลัก

10.พัฒนาท่าเรือให้เป็นยอร์ชคลับ รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวในพื้นที่

11. แผนการเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้า ต้องสมบูรณ์ เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่นได้อย่างครอบคลุม

12. สายการเดินเรือแห่งชาติต้องเปิดให้บริการ เชื่อมอ่าวไทยได้ภายในปี 2565

13. พัฒนาท่าเรือให้เป็นระบบท่าเรืออัตโนมัติ เชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

14. การพัฒนาบุคลากรทางน้ำ ให้เพียงพอและมีคุณภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศ

15. การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ ด้านคมนาคมทางน้ำ ซึ่งกรมเจ้าท่าดำเนินการตามมาตรการรักษาความปลอดภัยด่านตรวจทางน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการกรมเจ้าท่า ท่าเรือปลอดภัย เรือปลอดภัย และคนปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (ดร. อธิรัฐ รัตนเศรษฐ) กล่าวว่าเน้นย้ำให้กรมเจ้าท่าเตรียมความพร้อมด้านคมนาคมทางน้ำ โดยปฏิบัติตามมาตรการของกรมเจ้าท่า และมาตรการกระทรวงสาธารณสุขของแต่ละพื้นที่ตลอดจนข้อสั่งการของทางจังหวัดโดยเคร่งครัด พร้อมกล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมา พร้อมมอบนโยบายเกี่ยวกับการขุดลอกต่างตอบแทนแก้ปัญหาภัยแล้ง และอุทกภัย ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการโดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ โดยเน้นย้ำห้ามมี การร้องเรียนการเรียกผลประโยชน์ และให้ดำเนินการตามระเบียบทางราชการโดยเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการขุดลอกมากที่สุด การปรับปรุงท่าเรือในเขต กทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัด ให้แล้วเสร็จตามแผนและเกิดเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นตามนโยบายของรัฐบาล ในการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบ ในส่วน smart pier ท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ให้กรมเจ้าท่าดำเนินการเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดการใช้งานท่าเรือส่งเสริมการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน กระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด – 19 สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอย่างยั่งยืน ส่วนด้านการต่างประเทศให้กรมเจ้าท่าติดตามและดำเนินการหาเสียงกับประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เพื่อให้ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งจากประเทศสมาชิกในการเข้าเป็นตัวแทนในคณะมนตรีของ IMO เป็นสมัยที่ 9 ติดต่อกัน ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปลายเดือน ธันวาคม 2564 และในฐานะกรมเจ้าท่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ IMO ขอให้เตรียมความพร้อมในการรับการตรวจประเมินจาก IMO ภาคบังคับที่จะมีขึ้นในต้นปี 2565 นี้ด้วย