มท.1 ลงพื้นที่ตรวจติดตามระบบการระบายน้ำปากคลองบางบาลและติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 26 ต.ค. 64 เวลา 13:00 น. นายวีระชัย นาคมาศ(นาค-คะ-มาด) ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคณะ ได้เดินทางมาตรวจติดตามระบบการระบายน้ำ ที่ประตูระบายน้ำปากคลองบางบาล ตำบลไทรน้อย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนายธนากร ตันติกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา โดยมี นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายประทีปการมิตรี ปลัดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา และทุกภาคส่วน ร่วมให้การต้อนรับ

ต่อจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้เดินทางไปยังวัดกำแพงแก้ว ตำบลสะพานไทย อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 200 ชุด และลงเรือไปเยี่ยมและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยอีก 10 ครัวเรือน

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยพ่อแม่พี่น้องประชาชน และได้มีข้อสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนและติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งดูแลในด้านการเยียวยาฟื้นฟูหลังน้ำลดเพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขโดยเร็ว วันนี้ผมพร้อมด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการส่วนกลาง มาให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวอำเภอบางบาล รวมถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จิตอาสา และทุกภาคส่วน ท่านนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้รัฐมนตรีได้ลงพื้นที่เพื่อดูแลและติดตามการให้ความช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งจากข้อมูลที่ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 54 ค่าเฉลี่ยฝนที่ตกในพื้นที่ตรงนี้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย รวมทั้งพื้นที่บริเวณนี้อยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำน้อย แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำป่าสัก ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแล้ว จึงขอฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ดูแลให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง และสร้างการรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และสุขาที่ถูกสุขลักษณะ และหลังจากน้ำลดแล้ว “เราจะไม่ทอดทิ้งกัน” โดยจะเร่งดำเนินการด้านการเยียวยาช่วยเหลือต่อไป

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า ในเรื่องการระบายน้ำและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะมีคณะกรรมการลุ่มน้ำจังหวัด ประชุมหารือวางแผนการบริหารจัดการน้ำ โดยจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมรสุมและน้ำหลากจากลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่นเดียวกับจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา ขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม จังหวัดที่อยู่ปลายน้ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ต้องรับน้ำฝน เราบังคับฝนให้ตกเฉลี่ยไม่ได้ พอฝนตกไปที่ใดที่หนึ่งมากเราต้องรีบระบาย จะเกิดผลกระทบทำให้น้ำท่วมเช่นนี้ ซึ่งคณะกรรมการลุ่มน้ำจังหวัดต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจ รวมถึงในเรื่องการซ่อมแซมเยียวยา ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมีคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอำเภอและจังหวัด (คชพ.อำเภอ คชพ.จังหวัด) เข้าไปสำรวจ และให้การเยียวยา โดยทุกฝ่ายได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้พระราชทานไว้ว่า “บ้านเรือนพี่น้องประชาชนที่เสียหาย ให้ทุกหน่วยงานรีบซ่อมแซมให้เขากลับไปใช้ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด” ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรีบสำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานต่าง ๆ เร่งระดมสรรพกำลังช่างในท้องถิ่น ช่วยกันซ่อมแซม และเรายังมีหน่วยงานที่ลงมาช่วยซ่อมประจำ คือ ทหาร ตำรวจ และกลุ่มอาชีวะ ซึ่งกลุ่มอาชีวะเป็นส่วนที่สำคัญที่จะช่วยซ่อมแซมทั้งบ้าน ยานพาหนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด ผมและคณะ จะรีบดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกด้าน

นายวีระชัยนาคมาศ กล่าวว่า จังหวัดนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโชนร้อน “โกนเชิน” และ “เตี้ยนหมู่” และ “คมปาซุ” ส่งผลให้เกิดน้ำหลากบริเวณพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำและคลองธรรมชาติ นอกคันกั้นน้ำชลประทาน ได้รับผลกระทบน้ำเอ่อลันตลิ่งจากแม่น้ำน้อยคลองโผงเผง และคลองบางบาล เข้าท่วมบริเวณบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้วและในภาพรวม จำนวน ๑๔ อำเภอ ๑๒๔ ตำบล ๗๔๐ หมู่บ้าน ๕๑,๕๖๙ ครัวเรือน รวมทั้งมีวัดและมัสยิด ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน ๑๑๒ วัด ๑๐ มัสยิด ซึ่งทางจังหวัด และทุกภาคส่วนได้ร่วมกันให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้วตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน