พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ถวายแด่ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระผู้มีเมตตาในการขับเคลื่อน “โคก หนอง นา พช.” ตามหลัก “บวร”

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี เชิญสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ไปถวายแด่ พระพิพัฒน์วชิโรภาส ณ วัดวังอ้อ ตำบลหัวดอน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์พระครูสุขุมวรรณโณภาส วัดวังอ้อ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระราชาคณะ มีนามว่า พระพิพัฒน์วชิโรภาส ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พุทธศักราช 2564 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ประธานคณะกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ ของมหาเถรสมาคม (มส.) และพระเถระชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากร่วมพิธีฯ รวมถึง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดจนพระสงฆ์และเหล่าศิษยานุศิษย์ เข้าร่วมพิธีฯ โดยพร้อมเพรียงกัน

โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางสาววิจิตร หลงชิน ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นางกนกอร โพธิ์สิงห์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นางวริชา เสาทอง พัฒนาการอำเภอเขื่องใน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเขื่องใน ได้เข้าร่วมพิธีฯ พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับเครือข่าย OTOP จังหวัดอุบลราชธานี และภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชนในพื้นที่อำเภอเขื่องใน และจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมจัดโรงทานเพื่อสร้างกุศลและอนุโมทนาบุญในพิธีฯ ดังกล่าวด้วย

พระพิพัฒน์วชิโรภาส เป็นที่รู้จักในวงกว้างว่าเป็น “พระนักพัฒนา” ที่ร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดอุบลราชธานี และพื้นที่ใกล้เคียงมากมาย โดยเฉพาะการสนับสนุนการขับเคลื่อน “โคก หนอง นา โมเดล” โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา จนได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินกู้ จากทางรัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ที่ในปัจจุบัน กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 โดยสร้างแหล่งเรียนรู้ในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นตัวอย่างให้กับครอบครัว ชุมชน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น คือความพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เป็นความมั่นคงขั้นพื้นฐาน และขยายเป็นความมั่นคงขั้นก้าวหน้า คือบุญ ทาน เก็บขาย เป็นความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ และที่สำคัญ คือจิตวิญญาณ ในการเข้าถึง ศาสตร์พระราชา ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ลดปัญหาความอดอยากหิวโหย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีผลสัมฤทธิ์และผลผลิตทั้งรูปธรรมและนำมาทำจากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติ จนเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลและแก่สังคมในทุกมิติ

นอกจากนั้น พระพิพัฒน์วชิโรภาส ยังได้ขับเคลื่อนศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ให้เป็นสถาบันหลักของการพัฒนาที่เป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนและสังคมเพื่อความยั่งยืน ดังที่หลายหน่วยงานได้เข้ามาศึกษาดูงานและประสานเครือข่ายความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือองค์กรชุมชน ต่างได้นำแนวทางของการประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะการพัฒนาคน โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติจริงแก่ผู้ที่สนใจในการทำ “โคก หนอง นา” ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ให้เป็นกลไกพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป