รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจความพร้อม ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับนักท่องเที่ยวตามนโยบายเปิดประเทศของนายกรัฐมนตรี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อตรวจความพร้อมการรองรับและให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงคมนาคม โดยมี นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ผู้บริหารระดับสูง ทอท. ให้การต้อนรับ และนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายปริญญา แสงสุวรรณ รักษาราชการแทน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน นายกิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และนายทินกร ชูวงศ์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เข้าร่วม ในวันที่ 20 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 โดยมีความพร้อม 100% และนำบทเรียนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งนี้ เตรียมสรุปความพร้อมในวันที่ 27 ตุลาคม 2564 เพื่อหารือมาตรการร่วมกับ ศบค. เพื่อนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่ชัดเจน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายการเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ณ ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิครั้งนี้ ได้รับนโยบายพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยการลงพื้นที่วันนี้เป็นการเตรียมความพร้อมท่าอากาศยานที่รองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของท่าอากาศยานของ ทอท. ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564

ทั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายการเปิดประเทศของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายการเปิดรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และมีการตรวจ SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง ประกอบกับได้มีการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย มีปริมาณเพียงพอหรือ 120 ล้านโดสในปี 2564 และอีกกว่า 60 ล้านโดสในปี 2565 ทั้งนี้ เพื่อต้องการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลับมาอีกครั้ง รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเพิ่มกำลังการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศไทย

สำหรับนโยบายการเปิดประเทศดังกล่าว จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ วันที่ 1 พ.ย. 2564 จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศต้นทางที่ประเมินว่ามีความเสี่ยงต่ำ ให้สามารถเดินทางทางอากาศเข้ามายังประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ในเบื้องต้นคาดว่าจะมี 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ จีน เยอรมัน สิงคโปร์ เป็นต้น ก่อนที่จะขยายผลระยะที่ 2 ช่วงเดือนธันวาคม 2564 และระยะที่ 3 ช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยให้นำบทเรียนแนวทางการเปิดประเทศของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มาใช้กับอีก 5 ท่าอากาศยาน ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกและมาตรการด้านความปลอดภัยทางสาธารณสุข

จากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมพบว่า ขั้นตอนต่าง ๆ เป็นระบบ โดยระยะเวลาของผู้โดยสาร ตั้งแต่ลงจากเครื่องบินจนถึงกระบวนการต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 25 นาที/คน ซึ่งเร็วกว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ใช้เวลาประมาณ 30 กว่านาที/คน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในช่วงการเปิดรับนักท่องเที่ยวระยะแรก จะมีผู้โดยสารใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองอยู่ที่ 10,000 คน/วัน หรือประมาณ 20% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีผู้โดยสารอยู่ที่ 50,000 คน/วัน โดยยืนยันว่า ทั้ง 6 ท่าอากาศยานมีความพร้อมในการรองรับการเปิดประเทศ 100% อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน จากการรายงานของท่าอากาศยานดอนเมืองพบว่า หากรัฐบาลต้องการเกิดความคล่องตัวในการดำเนินการอาจจะให้พิจารณารับผล SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 72 ชม. และหลักฐานการรับวัคซีนครบ 2 เข็ม มาใช้เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้น รวมทั้งการพิจารณาติดตั้งแผ่นอะคริลิกใสเพื่อกั้นระหว่างผู้ขับรถ กับผู้โดยสารในการเดินทางไปยังโรงแรมที่พัก จากนั้นเมื่อไปถึงที่พักเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจหาเชื้อในรูปแบบ ATK หรือ RT-PCR ต่อไป

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานดอนเมืองจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ เพื่อบอกเส้นทางแก่นักท่องเที่ยวภายในอาคารผู้โดยสารให้ชัดเจน ในส่วนของขาออกจากประเทศมอบหมายให้ประสานงานกับประเทศปลายทางถึงขั้นตอน และรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้สายการบินที่ประเทศต้นทาง ดำเนินการให้เรียบร้อยก่อนการเดินทาง ขณะที่ผู้โดยสารภายในประเทศจะใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ ก่อนการซื้อบัตรโดยสารจะต้องแสดงหลักฐานหรืออกสารการได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว และมีการตรวจ SWAP ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วไม่เกิน 72 ชม. ก่อนการเดินทาง เพื่อความมั่นใจและความปลอดภัยในการเดินทาง