สทนช.ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.สิงห์บุรี

สทนช.ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.สิงห์บุรี พร้อมมอบ สทนช.เร่งรัดดำเนินโครงการตามแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับประชาชนโดยเร็ว

วันที่ 20 ต.ค.64 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสร่วมคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยชุมชนบางแคใน จ.สิงห์บุรี ว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำในภาพรวมของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 0.39 – 2.32 ม.และเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) มีอัตราการะบายที่ 2,673 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ในช่วงวันที่ 23 – 30 ต.ค.นี้ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจาก จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี จึงมีการปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาทอยู่ในเกณฑ์ 2,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.20 – 0.40 เมตร ซึ่งล่าสุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 24 แจ้งเตือน 9 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม รวมถึงปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์อุทกภัยใน จ.สิงห์บุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมทั้งหมด 14,923 ไร่ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ค่ายบางระจัน อ.ท่าช้าง อ.บางระจัน อ.พรหมบุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และ อ.อินทร์บุรี ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสิงห์บุรี กรมทางหลวงชนบท หน่วยทหารในพื้นที่ได้เร่งเข้าสํารวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชน ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำหลากลงสู่ทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น โดยกรมชลประทานนำเครื่องผลักดันน้ำ ไปติดตั้งจำนวน 2 แห่งบริเวณคลองพังทลาย ต.บางตะเคียน เพิ่มเติม ที่ ปตร.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง และติดตั้งเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ที่ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี บริเวณ สะพานข้ามแม่น้ำวัดไผ่โรงวัวอีก 20 เครื่องด้วยเช่นกัน

“นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระยะยาว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดยในระยะเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ บริหารจัดการน้ำหลากเพื่อลดความเดือนร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงวางแผนเก็บน้ำหลากไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชในฤดูน้ำหลากให้เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ต้องเร่งจัดทำรายละเอียดการจ่ายค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้ไม่เดือดร้อน ทั้งนี้ สทนช. ต้องเสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช .) เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติต่อไป และท้ายที่สุด คือ ให้ สทนช. บูรณาการกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของพนังกั้นน้ำเจ้าพระยา จัดทำแผนบำรุงรักษา และซ่อมแซมปรับปรุงบริเวณจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”ดร.สุรสีห์ กล่าว

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
20 ตุลาคม 2564