โฆษกดีอีเอสเตือนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมพบแอปฯ ดูดเงินจากบัญชีธนาคารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลจากธนาคารรั่วไหล มีผู้เสียหายจำนวนมาก

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวสารในสื่อต่างๆ ประเด็นเรื่อง พบแอปฯ ดูดเงินจากบัญชีธนาคารของประชาชน เนื่องจากข้อมูลจากธนาคารรั่วไหล มีผู้เสียหายจำนวนมาก ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีที่ปรากฏข่าวพบประชาชนผู้ถือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้รับทราบปัญหาและได้ตรวจสอบสถานการณ์ดังกล่าว โดยเบื้องต้นพบว่า มิได้เกิดจากแอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว  และมิได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทำธุรกรรมชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

ขณะนี้ธนาคารเจ้าของบัตรได้ดำเนินการระงับการใช้บัตรของลูกค้าที่มีรายการผิดปกติ และติดต่อลูกค้า รวมทั้งอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบร้านค้าที่มีธุรกรรมที่ผิดปกติเหล่านี้ นอกจากนี้ ลูกค้าที่ตรวจสอบพบความผิดปกติของรายการธุรกรรมด้วยตนเอง สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์หรือสาขาของธนาคารผู้ออกบัตรเพื่อแจ้งตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในทันที โดยธนาคารจะดูแลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเร่งคืนเงินให้กับลูกค้าที่ได้รับความเสียหายตามขั้นตอนของธนาคารโดยเร็วต่อไป

ธปท. และสมาคมธนาคารไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงิน และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า โดยธนาคารพาณิชย์มีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยและมีการตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติอย่างต่อเนื่อง เมื่อพบรายการที่ผิดปกติ ธนาคารจะแจ้งลูกค้าเพื่อตรวจสอบและยืนยันรายการธุรกรรม และพร้อมจะดูแลลูกค้าด้วยความรับผิดชอบเสมอ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 1213 หากประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด เบาะแสการฉ้อโกงหรือหลอกลวงทางโซเชียล โดยแจ้งเข้ามาได้ผ่านช่องทาง ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และโทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 รวมทั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ โทร. 1212 เพื่อจะประสานต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป