รมช.วิวัฒน์ ลงพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ติดตามการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติ-ดินถล่ม

วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม 2562 นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ  ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้างานป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปยังพื้นที่บ้านทุ่งใน หมู่ 8 ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อติดตามการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงดินถล่มและงานระบบอนุรักษ์ดินและน้ำซึ่งเคยเกิดดินถล่มในปี 2554 และได้รับการฟื้นฟูทั้งทางกล เช่น ทำทางเบนน้ำ ทำขั้นบันไดดิน และการฟื้นฟูทางระบบพืช เช่น การปลูกไม้ผล การปลูกหญ้าแฝกกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน พร้อมติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝน และจัดทำแปลงทดลองเก็บตะกอนดิน จากนั้นเดินทางต่อไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง เพื่อรับฟังบรรยายสรุป โดยอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ในภาพรวมการพัฒนาพื้นฟูที่เสี่ยงดินถล่ม และงานอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมรับฟังข้อมูลงานวิจัยดินถล่ม ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จาก รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์  คณะบดีภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

“การชะล้างหน้าดินในประเทศไทยรุนแรงมากถึง 100 กว่าล้านไร่ ประมาณว่าเกษตรกรที่เข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่ป่า มีไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สิน มากกว่า 200 จุด ฉะนั้น หน่วยงานภาครัฐต้องร่วมบูรณาการกัน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านร่วมบูรณาการศึกษาข้อมูลภัยพิบัติ และแนวทางป้องกัน ให้กับเจ้าของที่ดินว่ามีความเสี่ยงระดับที่เท่าไหร่ที่ดินจะถล่มจนทำให้เสียชีวิตและทรัพย์สิน ถึงขั้นต้องย้ายภูมิลำเนามีกี่จุด โดยเร่งทำก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อเป้าหมายที่เป็นสุขของประชาชน ตัวอย่างเช่น ที่ อ.นบพิตำ มีพื้นที่ราว 451,000 ไร่ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ดินส่วนใหญ่เป็นดินที่สลายตัวจากหินแกรนิตมีความเสี่ยงเกิดดินถล่มสูงถ้ามีปริมาณน้ำฝนมาก ราว 88,000 ไร่ แนวทางที่ภาครัฐจะป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม คือ มีการอบรมให้ความรู้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม สาธิต สนับสนุนปัจจัยเพื่อป้องกันดินถล่มและการชะล้างพังทลายของดิน จัดทำแผนการใช้ที่ดินตามฤดูกาล ติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย และกำหนดพื้นที่ห้ามอยู่อาศัย ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน โดยจะไม่ให้มีประชาชนเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงพืชผลทางการเกษตรอีกต่อไป” … รัฐมนตรีวิวัฒน์ กล่าว..

ช่วงบ่ายคณะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางต่อไปยังบ้านทับน้ำเต้า หมู่ 8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเยี่ยมชมพื้นที่สวนทุเรียนที่เคยประสบภัยดินถล่ม เกษตรกรขาดประโยชน์ในการทำเกษตร ทำให้หน่วยงานราชการเข้ามาฟื้นฟู และให้คำแนะนำการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร จากนั้นเดินทางต่อไปยัง บ้านหวายช่อ หมู่ 11 ซึ่งเคยเกิดดินถล่มเมื่อปี 2554 ทำให้ถนนถูกตัดขาด รถไม่สามารถสัญจรได้ ทางหน่วยงานราชการได้เข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ มีการทำถนนลดระดับเป็นสะพานที่เหมาะสมกับพื้นที่ภัยพิบัติ และเยี่ยมชมบ้านลุงวิรัช ชูศรีสุข ชาวบ้านชุมชนที่มีการสร้างบ้านที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินถล่ม และมีกำแพงป้องกันดินถล่ม อีกด้วย