กรมทางหลวง ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ชี้แจงกรณีการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M)โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี  ว่า หลักการของรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ PPP Gross Cost  เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ซึ่งให้เอกชนเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้างรวมถึงรายได้ทั้งหมดจากค่าธรรมเนียมผ่านทางและให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาของโครงการทั้งหมด ทั้งในส่วนของงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุนและงานส่วนที่เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง  ซึ่งเอกชนได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินค่าก่อสร้างงานระบบและองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ค่าบำรุงรักษา และค่าบริหารจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมทั้งงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามขอบเขตและเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีระยะเวลาร่วมลงทุนไม่เกิน 30 ปี นับแต่เปิดให้บริการ

อธิบดีกรมทางหลวงยังกล่าวต่อไปอีกว่า จากผลการศึกษาฯ พบว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ รูปแบบ PPP Gross Cost มีต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ “ต่ำกว่า” รูปแบบรัฐดำเนินการเอง (PSC) เมื่อเปรียบเทียบตามหลักการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของเงิน (Value For Money) รัฐสามารถถ่ายโอนความเสี่ยงในเรื่องการก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและค่าบำรุงรักษา (O&M) ตลอดระยะเวลา 30 ปี ไปให้เอกชนผู้ใช้บริการจะได้ประโยชน์จากการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ที่มีประสิทธิภาพโดยภาคเอกชนภายใต้เงื่อนไขสัญญาที่กำหนดเกณฑ์คุณภาพการให้บริการ (KPI) ในด้านต่างๆ เช่น การระบายจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง การช่วยเหลือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน ความเรียบของผิวถนน ความชัดเจนของเส้นจราจร การซ่อมแซมดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆที่เสียหายให้กลับสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว เป็นต้น   ลดภาระรายจ่ายงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงลดภาระการบริหารจัดการด้านบุคลากร โดยปัจจุบันมอเตอร์เวย์ 2 สายทางในปัจจุบัน ระยะทาง 204 กม. (M7 กรุงเทพฯ – ชลบุรี – พัทยา และ M9 วงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก)  ต้องใช้ลูกจ้างปฏิบัติงานมากว่า 2,200 อัตรา และมีความสอดคล้องกับแผนปฏิรูปองค์กรของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ.ร. นอกจากนี้รัฐจะได้รับประโยชน์จากประสิทธิภาพจากภาคเอกชน (Private Sector Efficienies) จากการใช้สัญญารูปแบบ PPP ที่ให้เอกชนลงทุน บำรุงรักษา และบริหารจัดการในระยะยาว (Life Cycle Approach) สร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม (Technology & Innovation) มาใช้ในการดำเนินการตามเกณฑ์คุณภาพที่รัฐกำหนดและเอกชนสามารถวางแผนระยะยาว เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

เกิดความคล่องตัวของของภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา ซ่อมแซม บูรณะ ฟื้นฟูความเสียหารของทางและอุปกรณ์งานทางต่างๆ เมื่อเทียบกับกลไกการใช้งบประมาณโดยปกติของภาครัฐ (ส่งผลให้ผู้ใช้ทางได้รับการบริการที่ดีตลอดเวลา) และรัฐสามารถคาดการณ์และควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะทางได้ จึงส่งผลดีต่อการบริหารจัดการกระแสเงินสดคงเหลือในอนาคตภายใต้กลไกต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการลงทุนก่อสร้างทางหลวงพิเศษฯเส้นทางอื่น

ทั้งนี้ กรมทางหลวงขอเรียนว่าการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย  บางปะอิน – นครราชสีมา และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี กรมทางหลวงได้คำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐ ความเป็นไปได้ของการร่วมลงทุน และการจัดสรรความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบคอบแล้ว โดยภาครัฐไม่ได้เสียเปรียบเอกชนและ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนแต่อย่างใด