“พาณิชย์จับมือสถานทูตอังกฤษ นำร่องใช้บล็อกเชนช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าให้ภาคเอกชน”

วันที่ 31 มกราคม 2562 สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเพื่อนำเสนอ (ร่าง) ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยมีสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาฯ

H.E. Brian Davidson เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่าอังกฤษสนับสนุนการเปิดตลาดและการค้าเสรี รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีในการยกระดับเศรษฐกิจการค้า ซึ่งบล็อกเชนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สถานทูตอังกฤษให้การสนับสนุนในการยกระดับเศรษฐกิจการค้าของไทย โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจการค้าได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการเงินเพื่อการค้าระหว่างประเทศและการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วย สถานทูตอังกฤษยินดีที่ได้สนับสนุนงบประมาณและทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ในโครงการศึกษาครั้งนี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่าบล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาปฏิวัติสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในยุคดิจิทัล ด้วยคุณลักษณะสำคัญของบล็อกเชน โดยเฉพาะการกระจายฐานข้อมูล ทำให้เกิดความเชื่อมั่น โปร่งใส และไว้วางใจ รวมทั้ง การมีสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่ช่วยให้เกิดการดำเนินการอย่างอัตโนมัติเมื่อสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงช่วยลดปัญหาการหลอกลวงและป้องกันปัญหาข้อพิพาทระหว่างกันได้อย่างดียิ่ง กระทรวงพาณิชย์เล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนข้างต้น จึงดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนประยุกต์ใช้กับเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการการเงิน (Trade Finance) และการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ (Trade Facilitation) ของไทย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทย และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมนึก คีรีโต กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) มักจะมีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อหรือได้รับอนุมัติในวงเงินต่ำ เนื่องจากเหตุผลn ด้านความเสี่ยง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในเอกสาร มีการปลอมแปลงเอกสารหรือมีโอกาสผิดพลาดสูง และเอกสารที่ใช้มีจำนวนมาก อาทิ ใบแจ้งหนี้ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรองการส่งออก ใบตราส่งสินค้าทางเรือ และเอกสารประกอบอื่นๆ อีกทั้งการติดต่อสื่อสารของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการค้าระหว่างประเทศนี้ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และใช้เวลาหลายวัน ดังนั้น บล็อกเชนจะเข้ามาแก้ปัญหาได้ ทั้งเรื่องการบริการการเงิน (Trade Finance) และการอำนวยความสะดวกการค้าระหว่างประเทศ (Trade Facilitation)

จากการศึกษาพบว่ามีสิ่งที่ดำเนินการต่อได้อย่างน้อย 6 โครงการ ทั้งระยะสั้น (Quick Win 1 ปี) และระยะถัดไป (3-5 ปี) ซึ่ง สนค. จะหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไป โดยโครงการนำร่อง Quick Win สนค. ได้หารือเบื้องต้นร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) โดยเห็นว่า สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ ได้แก่ การเชื่อมโยงหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหนังสือรับรองการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ จาก คต. และหน่วยงานอื่นๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย เข้ากับระบบบล็อกเชนของธนาคาร เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเงินเพื่อการค้าแบบตราสารเครดิต (Letter of Credits หรือ L/C) และแบบบัญชีเปิด (Open Account)

สำหรับโครงการระยะ 3-5 ปี มีข้อเสนอจากผลการศึกษา เช่น 1) โครงการการจัดทำระบบ Cross-border Blockchain หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและหนังสือรับรองการส่งออก ของกรมการค้าต่างประเทศ[1] 2) โครงการจัดทำระบบบล็อกเชน เพื่ออำนวยความสะดวกด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ในการขนส่งและการนำเข้าสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ 3) โครงการขยายระบบบล็อกเชน เพื่อรองรับ Next-Generation National Single Window ด้านการส่งออก 4) โครงการขยายระบบ บล็อกเชนรองรับ Next-Generation National Single Window ด้านการนำเข้า 5) โครงการพัฒนาระบบบล็อกเชน เพื่อการติดตามย้อนกลับในห่วงโซ่สินค้า (Blockchain Traceability for Supply Chain)

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า สนค. จะหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถึงความเป็นไปได้ในการนำข้อเสนอการดำเนินการโครงการต่างๆ ไปปฏิบัติต่อไปในอนาคต โดย เห็นว่าการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้า และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เช่น การช่วยลดเวลา     ที่ผู้ส่งออกจะได้รับอนุมัติเครดิตและรับขำระค่าสินค้า จาก 5 วัน เหลือ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

[1] อ้างอิงโมเดลต้นแบบ Cross-border Blockchain สำหรับหนังสืออนุญาตพืชอนุรักษ์ (CITES Cross-border Blockchain) – Technische Universitat Berlin)