รายงานผลการตรวจสอบเหตุการณ์ โคลนผุดกลางทุ่งนา บ.หนองกุงน้อย จังหวัดนครราชสีมา

ตามที่ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ได้รับการประสานจาก สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 ให้เข้าตรวจสอบเหตุการณ์โคลนผุดกลางทุ่งนา บ้านหนองกุงน้อย หมู่ 10 ตำบลโคกกระเบื้อง อำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา นั้น

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 โดย นายทรงกลด ประเสริฐทรง นายประดิษฐ์ นูเล และนายชาคริต วงศ์จารย์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ ลงพื้นที่สำรวจกับผู้นำชุมชนและชาวบ้าน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2562

ผลการสำรวจเบื้องต้น ดังนี้
สภาพพื้นที่และเหตุการณ์ ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองกุงน้อย คุ้มหนองตะนา ตำบลโคกกระเบื้อง อำเภอบ้านเหลื่อม จังหวัดนครราชสีมา สภาพภูมิประเทศเป็นทุ่งนา ครอบคลุมพื้นที่ 20 ไร่ จากการสอบถามข้อมูลเจ้าของที่ดินพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 บริเวณที่โคลนไหลขึ้นมามีลักษณะเป็นเนินดินนูนสูงขึ้นมาประมาณ 1 เมตร มีรูปทรงกลมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 5 เมตร เมื่อหยั่งด้วยไม้ลงไปตรงกลางหลุมมีความลึกประมาณ 5 – 6 เมตร บริเวณตรงกลางจะมีน้ำไหลผุดออกมาพร้อมกับดินเหนียวปนดินทราย เมื่อแห้งโคลนดังกล่าวจะแตกเป็นระแหง นอกจากนี้แล้วบางหลุมที่แห้งไปนานแล้ว จะพบคราบเกลือสีขาวเกาะบนผิวดินมีรสขม น้ำที่ไหลออกมาจากปากหลุม เมื่อทดสอบค่าความเป็นกรด – ด่าง ด้วยกระดาษลิตมัส พบมีค่าความเป็นด่างสูง สภาพธรณีวิทยาบริเวณที่เกิดเหตุรองรับด้วยหมวดหินมหาสารคาม ซึ่งประกอบด้วยชั้นเกลือหิน และหินดินดาน

สาเหตุการเกิด จากลักษณะทางกายภาพเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยกระบวนการทางธรณีวิทยา ที่เรียกว่า “โคลนพุ” โดยมีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ประการคือ 1) บริเวณดังกล่าวมีแรงดันของน้ำใต้ดินสูง 2) บริเวณดังกล่าวมีรอยแตกและรอยแยกที่ยอมให้น้ำที่มีแรงดันดังกล่าวไหลขึ้นสู่ผิวดินได้ 3) สภาพธรณีวิทยาด้านล่างมีกลุ่มดินหรือแร่ที่ทำปฏิกิริยากับน้ำแล้วเกิดการพองตัวมีสภาพนิ่มและเหลว ไหลขึ้นมาพร้อมกับน้ำ
ผลกระทบของโคลนพุ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นด้วยกัน คือ 1) ผลกระทบที่เกิดจากสภาพของดินที่ใช้ในการเพาะปลูก เนื่องจากดินและน้ำที่เกิดจากโคลนพุ มีสภาพความเป็นด่างสูง ทำให้ไม่สามารถเพราะปลูกพืชได้ 2) ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อชีวิตทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงที่อาจตกลงไปในหลุมโคลน เนื่องจากพื้นดินด่านล่างมีความอ่อนนิ่มหากคนหรือสัตว์เลี้ยงพลัดตกลงไปอาจจะเกิดอันตรายได้

แนวทางการลดผลกระทบ ในเบื้องต้นควรทำแนวกั้นไม่ให้ประชาชนและสัตว์เลี้ยงเข้าไปใกล้บริเวณที่โคลนพุขึ้นมาเนื่องจากอาจผลัดตกลงได้ โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะยาวควรมีการศึกษาถึงปัจจัยและสาเหตุของการเกิดโดยละเอียด เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เช่น การลดระดับแรงดันของน้ำร่วมกับการปรับปรุงสภาพดินให้สามารถกลับมาปลูกพืชได้ หรืออาจวางแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาโคลนพุ หรือวิจัยศึกษาการใช้ประโยชน์จากโคลนพุให้ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป