นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง พร้อมเร่งรัดให้หน่วยงานซ่อมแซม ฟื้นฟูเส้นทางคมนาคม

​​วันที่ 13 ตุลาคม 2564  นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายปริญญา แสงสุวรรณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ มอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย ณ บริเวณลานหน้าสำนักงานเทศบาลตำบลไชโยและตำบลจระเข้ร้อง พร้อมสั่งการหน่วยงานในพื้นที่เร่งรัดงานซ่อมแซม ฟื้นฟูเส้นทางที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ที่ส่งผลให้ฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ส่งผลให้โครงข่ายคมนาคมในพื้นที่จังหวัดอ่างทองได้รับผลกระทบ และในบางพื้นที่ยังมีระดับน้ำสูงทำให้เส้นทางคมนาคมยังไม่สามารถสัญจรได้ โดยมี นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี กรมทางหลวง นายวิศว์ รัตนโชติ วิศวกรใหญ่ กรมทางหลวงชนบท นายอารยัน รัตพันธุ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านวางแผนการพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.) หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และประชาชนให้การต้อนรับ

​​สำหรับโครงข่ายคมนาคมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง มีดังนี้

​​1. เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) โดยแขวงทางหลวงอ่างทอง สำนักงานทางหลวงที่ 12 (สุพรรณบุรี) ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 โครงข่ายทางหลวงที่ได้รับความเสียหาย จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) ทล.309 ตอน บางเสด็จ – แยกที่ดิน ช่วง กม. ที่ 42+800 – 43+200 กม. ที่ 43+400 – 44+200 และ กม. ที่ 52+200 – 53+000 ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 2) ทล.33 ช่วง กม. ที่ 36+200 – 36+400 เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงพ้นคันดิน ส่งผลให้น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งนี้ ทล. ได้มีมาตรการรับมืออุทกภัย ได้แก่ ติดตั้งป้ายเตือน ประชาสัมพันธ์ ติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตเพื่อชะลอน้ำ ทำคันดินกั้นมวลน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำที่ขังบริเวณผิวทางจราจรออก เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้ทางให้สัญจรได้ และแขวงทางหลวงอ่างทองได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายแก่โครงสร้างถนนในระยะยาว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 201 ล้านบาท

​​2. เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง โครงข่ายทางหลวงชนบท ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ได้รับความเสียหาย 1 เส้นทาง คือ ถนนสาย อท.2034 แยก ทล.32 มานรี – บ้านมหานาม อำเภอเมืองไชโย ยังไม่สามารถสัญจรผ่านได้ เนื่องจากยังมีระดับน้ำท่วมสูง ทช. ได้ดำเนินการแก้ไขโดยติดตั้งป้ายเตือน แนะนำเส้นทางเลี่ยง และจัดเตรียมอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตรายแก่ประชาชน พร้อมวางกระสอบทรายและคันกั้นน้ำเป็นช่วง ๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเส้นทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ทั้งนี้แขวงทางหลวงชนบทอ่างทองได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูสภาพถนนสาย อท.2034 เบื้องต้นในระยะเร่งด่วนโดยใช้งบบำรุงปกติ และมาตรการฟื้นฟูระยะยาวในการเร่งจัดเตรียมแบบและประมาณการฟื้นฟู รวมถึงป้องกันความเสียหายแก่โครงสร้างถนนระยะยาว โดยใช้งบกลาง คาดว่าจะใช้งบประมาณ 40.7 ล้านบาท

​​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงสถานการณ์อุทกภัยอย่างมาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีลงพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เพื่อดูแลและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งแม้จะเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นทุกปี แต่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งการระบายน้ำและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและปลอดภัย ตลอดจนป้องกันเหตุแก่ประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงฤดูฝนนี้ โดยให้ติดตามเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย ติดตามการเตือนภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ หากเกิดภัยพิบัติให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งแก้ไขให้การจราจรใช้การได้ในเบื้องต้นทันที พร้อมทั้งสั่งการให้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ วัสดุและชิ้นส่วนสะพานเบลีย์ เครื่องจักร ยานพาหนะ เตรียมพร้อมสนับสนุนทุกหน่วยงานในกรณีถนนหรือสะพานขาด นอกจากนี้ยังกำชับให้ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และตั้งจุดให้บริการประชาชน จัดรถ Mobile Service ช่วยเหลือประชาชนกรณีรถเสียบนทางหลวง จัดรถบรรทุกไว้บริการรับส่งประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมถึงให้บูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ อีกทั้งให้เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานผลการดำเนินงานมายังกระทรวงคมนาคมรับทราบทุกวัน ตลอดจนให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมไว้ หากเกิดพายุในพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนป้องกันสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ โดยเตรียมความพร้อมในการป้องกัน ฟื้นฟู เยียวยาหลังสถานการณ์คลี่คลายในทุกมิติ และให้ ทล. ทช. และ จท. เตรียมความพร้อมเข้าไปดูแลช่วยเหลือประชาชนด้วย นอกจากนี้ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีคือการเกิดน้ำท่วมส่วนหนึ่งอาจจะมาจากโครงการก่อสร้างของ ทล. หรือ ทช. จึงสั่งให้ทั้งสองหน่วยงานไปสำรวจพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศว่ามีจุดไหนที่น้ำเคยผ่านได้ และได้เข้าไปก่อสร้างกั้นทางน้ำ โดยเน้นย้ำให้ทำโครงการที่จะเป็นทางที่น้ำผ่านได้อย่างยั่งยืน มีความมั่นคง และแข็งแรง