สปภ. ร่วมกับ สสส. รณรงค์ตระหนักถึงภัยจากเพลิงไหม้ สร้างความร่วมมือชุมชนเฝ้าระวังอัคคีภัย เกิดเหตุโทร.199

ช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปี นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีน โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 5 กุมภาพันธ์  ในช่วงนี้จะมีการทำพิธีไหว้เจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ รวมทั้งเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษ ตลอดจนสถานประกอบการต่างๆของคนไทยเชื้อสายจีนก็จะปิดทำการเพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่นี้  ช่วงเทศกาลตรุษจีนจึงมักปรากฏเกิดเหตุเพลิงไหม้อยู่เสมอ โดยจากข้อมูลศูนย์วิทยุพระราม สปภ. พบสถิติเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเขตกรุงเทพมหานคร   ตั้งแต่ปี 2559-2561 ทั้งหมด 62 ครั้ง แยกเป็นเพลิงไหม้อาคาร 28 ครั้งซึ่ง สปภ.เข้าไประงับเหตุได้ และเพลิงสงบก่อน 34 ครั้ง โดยสาเหตุการเกิดอัคคีภัยส่วนหนึ่งอาจมาจากการจุดธูปเทียนไหว้เจ้า การเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ

ดร.ประยูร ครองยศ  รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร (สปภ.) กล่าวว่า อัคคีภัยเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก หากเกิดเหตุขึ้นมาแล้วอาจมีการสูญเสียทรัพย์สิน รวมไปถึงการเสียชีวิตได้ สาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ หลักๆมาจากไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนในช่วงเทศกาลก็จะมีเรื่องของการจุดธูปเทียน การทิ้งก้นบุหรี่ การหุงหาอาหาร ฯลฯ เป็นอีกหลายสาเหตุปัจจัยเข้ามาเสริม ดังนั้น ทุกคนจึงควรตั้งอยู่บนความไม่ประมาท เพราะเหตุเพลิงไหม้ไม่สามารถบอกล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่หรือเกิดกับใคร จึงควรเตรียมความพร้อมและเผ้าระวังเรื่องอัคคีภัยอยู่เสมอ โดยปีที่ผ่านมา สปภ.ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสื่อสังคม จัดอบรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันอัคคีภัยในชุมชน โดยนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมรณรงค์ให้ชุมชนตระหนักถึงการสร้างความพร้อมของชุมชนและความร่วมมือในการระงับเหตุเพลิงไหม้ ก่อนจะเกิดความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตได้

“ความร่วมมือของสามหน่วยงานนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อเป็นการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันอัคคีภัยให้กับชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความเข้าใจและเกิดความระมัดระวังในการป้องกันการเกิดอัคคีภัยภายในอาคารและสถานที่ต่างๆ   โดยสร้างความตระหนักให้ทุกคนในชุมชนเกิดความร่วมมือกัน และคอยระวังไม่ให้เกิดอัคคีภัยในชุมชน เมื่อเรารู้ว่าสาเหตุหลักๆของการเกิดเพลิงไหม้มาจากไฟฟ้าลัดวงจร เราก็ควรหมั่นตรวจตราสายไฟ อันไหนเก่าชำรุดก็เปลี่ยนใหม่ โดยเฉพาะปลั๊กพ่วงเสียบหลายตัวความร้อนเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดไฟฟ้าลัดวงจรก็มากขึ้น   ถ้าไฟเกิดแล้วเราดับได้ช้ามันจะเกิดความสูญเสียมากและบางอย่างก็ไม่สามารถเอากลับคืนมาได้” ดร.ประยูรกล่าว

ดร.ประยูร กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมว่า สปภ.มีความพร้อมในการระงับเหตุ ทั้งเรื่องบุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ โดยมีสถานีหลักในการดูแลประชาชน จำนวน 35 สถานี และสถานีย่อยอีกจำนวน  12 สถานี นอกจากนี้พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายสร้างสถานีดับเพลิงเพิ่มอีก 5 สถานี ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง เพื่อให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการรวมกว่า 2,000 คน แต่สำคัญที่สุด คือ คนในชุมชนต้องตระหนักร่วมกันถึงโทษของอัคคีภัย  ถ้าทุกคนตระหนักร่วมกันว่า อัคคีภัยไม่เลือกพื้นที่เกิดเหตุ มันเกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าบ้านหลังใหญ่ หลังเล็ก  ถ้าคนในชุมชนตระหนักร่วมกันและตั้งอยู่ด้วยความไม่ประมาท ทุกคนก็จะช่วยกันระมัดระวัง ดูแลชุมชนของตนเอง ทุกครัวเรือนต้องตักเตือนกัน สอดส่องดูแลระวังภัยร่วมกัน โดยเฉพาะช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ขอให้ดูแลธูปเทียน กระดาษเงินกระดาษทอง มีลักษณะที่ไฟดับสนิทแล้ว ก่อนเข้านอนหรืออกนอกเคหสถาน ควรตรวจสอบสายไฟและปลั๊กไฟรวมทั้งอุปกรณ์ภายในบ้านให้มีความสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมทันที และควรปิดสวิทซ์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้งเมื่อไม่ได้ใช้งาน รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติและเดินสายดินเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

ดร.ประยูร  กล่าวในตอนท้ายว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง)  ให้ความสำคัญกับเรื่องอัคคีภัยมาก โดยกำชับให้ สปภ.บูรณาการการทำงานร่วมกันกับแต่ละเขตของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางเราก็มีการประชุมและวางแผนการทำงานร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักของการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการเฝ้าระวังอัคคีภัยในชุมชนของตนเองด้วย อย่างไรก็ดี หากเกิดเพลิงไหม้ สามารถแจ้งสายด่วน โทร. 199 เจ้าหน้าที่ซึ่งประจำการ ณ สถานีในพื้นที่จะเข้าไประงับเหตุทันที

///////////////////////////////////////