กทท.ร่วมกับ ท่าเรือโยโกฮามา ดำเนินโครงการกลไกเครดิตร่วม (JCM) ระยะที่ 1

วันที่ (29 มกราคม 2562) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงภายใต้กลไกเครดิตร่วม หรือ Joint Crediting Mechanism (JCM) ระยะที่ 1 ของ กทท. (โครงการ Export CFS ที่ ทกท.) ระหว่าง กทท. และท่าเรือโยโกฮามา และบริษัท Green Pacific Co.,Ltd โดยมี Mr.Noboru Sekiguchi อัคราชฑูตประจำประเทศไทย ให้เกียรติมาประธานและสักขีพยาน พร้อมด้วยร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท. Mr.Fumio Sakurai ผู้อำนวยการท่าเรือโยโกฮามา และ Dr.Kazuhito Yamada ประธานบริษัท Green Pacific CO.,Ltd ร่วมลงนาม ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารที่ทำการ กทท.

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว เป็นการดำเนินโครงการกลไกเครดิตร่วม หรือ Joint Crediting Mechanism (JCM) ระยะที่ 1 ของ กทท. (โครงการ Export CFS ที่ ทกท.) โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กทท. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง กทท. และเมืองโยโกฮามาในปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการและการประกอบการท่าเรือ และส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม
  2. ผู้แทนเมืองโยโกฮามาและผู้แทนบริษัท ท่าเรือโยโกฮามา ได้แนะนำกลไก JCM ให้แก่ กทท. ซึ่งเป็นกลไกที่พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of the Environment, Japan : MOEJ) เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด โดยผู้พัฒนาโครงการฝ่ายไทย (กทท.) และผู้พัฒนาโครงการฝ่ายญี่ปุ่น (บริษัท ท่าเรือโยโกฮามา) จะร่วมดำเนินโครงการพัฒนาแผนการเงิน และข้อตกลงร่วมกัน โดยให้ผู้พัฒนาโครงการฝ่ายญี่ปุ่น (บริษัท ท่าเรือโยโกฮามา) เป็นผู้ยื่นขอรับเงินช่วยเหลือโครงการ JCM ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะพิจารณาให้งบสนับสนุนการลงทุนบางส่วน (Partial Capital Fund) สูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนที่โครงการใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้หรือคาร์บอนเครดิตจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลญี่ปุ่นตามสัดส่วนที่เห็นชอบร่วมกัน (ร้อยละ 50) เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนสำหรับการให้เงินช่วยเหลือดังกล่าว
  3. โครงการ JCM เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการสร้างแรงจูงใจด้านการเงิน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนในเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดมลพิษทางอากาศจากการดำเนินงาน ซึ่งจากที่ผ่านมายังไม่มีผู้ประกอบการด้านท่าเรือใดหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดเสนอขอรับความช่วยเหลือภายใต้โครงการ JCM ซึ่ง กทท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแรกที่เข้าร่วม ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้แก่ท่าเรือและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอื่น รวมทั้งสนับสนุนในการต่อยอดความร่วมมือในระดับประเทศ (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2558 เห็นชอบ เรื่องการจะทำความร่วมมือทวิภาคี JCM กับประเทศญี่ปุ่น และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2560 เรื่อง การขยายระยะเวลาความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนากลไก JCM ลงมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาความตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนากลไก JCM) โดยคาดว่าโครงการ JCM ของ กทท. ในครั้งนี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปริมาณรวม 5,491 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  4. กทท. ร่วมกับบริษัท ท่าเรือโยโกฮามา ดำเนินการศึกษาเบื้องต้น (Feasibility Study : FS) โครงการ “Introduction of Energy Efficient Equipment to Bangkok Port” ในปี 2560 ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ 1) การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บนหลังคาคลังสินค้า 2) การนำ Electric Forklift มาใช้ 3) การนำRTG แบบ Hybrid มาใช้ และ 4) การเปลี่ยน LED High Mast โดยทั้ง 4 โครงการย่อยนั้นจะอยู่ภายใต้โครงการ Export CFS ที่ ทกท.
  5. ในการยื่นสมัครขอรับเงินช่วยเหลือภายใต้กลไก JCM นั้น กทท. จะต้องลงนามในร่างข้อตกลงกิจการค้าร่วมระหว่างประเทศ (Agreement on International Consortium for JCM Model Project) และร่างข้อตกลงว่าด้วยการดำเนินโครงการต้นแบบกลไกเครดิตร่วม (Agreement on Implementation of JCM Model Project) ซึ่ง กทท. ได้นำข้อสังเกตจากสำนักงานอัยการสูงสุด กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (มหาชน) และ กม.ฝอ. ประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างข้อตกลงฯ โดยเห็นประโยชน์สูงสุดแก่ กทท. เป็นสำคัญ จนได้ข้อตกลงฯ ที่เห็นชอบร่วมกันกับบริษัท ท่าเรือโยโกฮามา โดยคณะกรรมการฝ่ายบริหาร กทท. คณะกรรมการกลั่นกรองงานด้านกฎหมายของคณะกรรมการ กทท. และคณะกรรมการ กทท. มีมติเห็นชอบร่างข้อตกลงฯ ทั้ง 2 ฉบับเรียบร้อยแล้ว

******************************