วันที่ 10 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. นายชัยยงค์ ผ่องใส นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางสาวธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายเอกชัย ว่องไว พัฒนาการอำเภอปรางค์กู่ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด นักวิชาการพัฒนาชุมชนอำเภอและสมาชิกกลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ ร่วมถ่ายทำรายการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน โดยกลุ่มงานเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์การ กองประชาสัมพันธ์ กรมการพัฒนาชุมชน ณ กลุ่มสตรีทอผ้าไหมบ้านน้อยนาเจริญ หมู่ที่ 14 ตำบลสำโรง อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
จังหวัดศรีสะเกษได้ใช้กลไกการบริหารจัดการแบบประชารัฐที่มีทุกภาคีเครือข่าย ทั้งภายในและภายนอกจังหวัดเข้ามามีส่วนในการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมติดตาม”โดยยึดหลักธรรมาภิบาลเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนจังหวัดจึงได้ประกาศเป็นวาระ “1+ 10 วาระ การขับเคลื่อนจังหวัดสะเกษ บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีหนึ่งภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมดำเนินการ คือ “การปกป้องเชิดชูสถาบัน” สำหรับ 10 วาระจังหวัด ส่วนหนึ่งเป็นการต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจฐานราก ดังคำว่า “อะไร อะไร ก็ดี ที่ศรีสะเกษ” ผ่านวาระด้านเศรษฐกิจ
นายชัยยงค์ ผ่องใส รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ ได้กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือ “ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี…แส่ว” ซึ่งเป็นวาระสำคัญของจังหวัด ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานของรัฐในการร่วมโครงการสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย อันเป็นศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชม ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษ โดยนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวจังหวัดศรีสะเกษ โดยใช้ภูมิปัญญาการย้อม ทอ แส่ว ของชาวจังหวัดศรีสะเกษ มาพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยพัฒนาผ้าพื้นเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ครบวงจร เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้ โดยได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มาขับเคลื่อนผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ จากเดิมมีการทอผ้าลายลูกแก้วย้อมจากผลมะเกลือได้ผ้าสีดำขลับ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการย้อมดั้งเดิมของชาวอีสานใต้ มีข้อจำกัดคือไม่หลากหลายในการใช้สวมใส่ เนื่องจากเป็นสีดำ และเป็นผ้าหน้าแคบ ไม่สะดวกต่อการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า การแส่ว ด้ายที่ใช้แส่ว เป็นสีที่ฉูดฉาด ลายที่ใช้แส่วเป็นลายไม่หลากหลาย โดยได้พัฒนาภูมิปัญญาของชาวจังหวัดศรีสะเกษให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีรูปแบบสีสันที่ทันสมัย ใส่ให้สนุก สวมใส่ได้ทุกโอกาส สามารถแข่งขันได้ และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง ยังยืน สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นการพัฒนารูปแบบ ส่งเสริมการยกระดับผ้าอัตลักษณ์ มีลวดลายทันสมัย เพิ่มมูลค่ามากขึ้น
นายชัยยงค์ ผ่องใส รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดศรีสะเกษได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาในการจัดกิจกรรมรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ให้มีการสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน โดยจังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้กลยุทธ์การขับเคลื่อนวาระผ้าทอในการจัดกิจกรรมนุ่งผ้าไทยใส่บาตร ทำความดีวิถีพอเพียง ที่ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันอังคาร ซึ่งเริ่มดำเนินการจัดกิจกรรมครั้งแรกตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 นับว่าเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นให้ชาวจังหวัดศรีสะเกษได้สวมใส่ผ้าไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 ที่มีการรณรงค์ให้ประชาชนได้ใช้และสวมใส่ผ้าไทยทุกวันอังคารและวันศุกร์ จึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ OTOP มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายอีกทาง ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษได้ขับเคลื่อนวาระผ้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดกิจกรรมเปิดตลาดโบราณ “ลานออดหลอด ซอดศรีเกษ” ณ ศูนย์โอทอปศรีสะเกษเป็นประจำทุกเดือน การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า “มหกรรม OTOP ของดี๊เมืองศรีเกษ” ภายใต้โครงการ จัดแสดงและจำหน่าย OTOP กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 โครงการการค้าการลงทุนกลุ่มจังหวัดเชื่อมโยงอาเชียน ประจำปี ณ ลานอะควาเรียม เซ็นทรัลพลาซ่าอุบลราชธานี และจังหวัดศรีสะเกษได้มีแคมเปญ “หน้าร้านมีขาย ออนไลน์มีส่ง” เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการ OTOP ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 โดยมีผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าและเครื่องแต่งกาย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,190,689,026 บาท
พัฒนาชุมชนศรีสะเกษ : นครแห่งความสุข
กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน : รายงาน
https://sisaket.cdd.go.th/2021/10/10/1-12