ตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมสองฝั่งเจ้าพระยา และจุดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ

วันที่10 ต.ค.64  เวลา 09.00 น. นายศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงเรือตรวจแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ตั้งแต่ท่าเรือห้างบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ ถึงคลองบางเขนเก่า และริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงท่าเรือห้างบิ๊กซีราษฎร์บูรณะ โดยมี นายธรณ์เทพ ชัยธนกวิน ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการประสานและติดตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ สำนักการโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวป้องกันน้ำท่วมความยาวประมาณ 87.93 กม. ซึ่งเป็นแนวป้องกันตนเองของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ยาวประมาณ 8.30 กม. (ปี 2563 มีแนวป้องกันตนเอง ความยาวประมาณ 9 กม. ลดลง 700 ม.) และเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ซึ่งก่อสร้างโดยสำนักการระบายน้ำ ความยาวประมาณ 79.63 กม. (ปี 2563 มีแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร ความยาวประมาณ 78.93 กม. เพิ่มขึ้น 700 ม.) สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร มีดังนี้ 1.แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวรวม 52.70 กม. ประกอบด้วย ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ตั้งแต่คลองบางเขนเก่าถึงคลองบางนา ความยาว 34.70 กม. และริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงคลองแจงร้อน ความยาว 18.00 กม. 2.แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองบางกอกน้อย ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยถึงคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 8.57 กม. 3.แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองมหาสวัสดิ์ ตั้งแต่ปากคลองมหาสวัสดิ์ ถึงประตูระบายน้ำคลองทวีวัฒนา ความยาวประมาณ 15.49 กม. 4.แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองชักพระ ตั้งแต่คลองบางกอกน้อย ถึงประตูระบายน้ำคลองชักพระ ความยาวประมาณ 0.67 กม. และ 5.แนวป้องกันน้ำท่วมริมคลองพระโขนง ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา ถึงประตูระบายน้ำคลองพระโขนง ความยาวประมาณ 2.20 กม.

ส่วนระดับความสูงคันกั้นน้ำแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพมหานคร มีดังนี้ 1.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงสะพานกรุงธนบุรี ความสูง +3.50 ม.(รทก.) 2.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานกรุงธนบุรี ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ความสูง +3.25 ม.(รทก.) 3.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานพุทธฯ ความสูง +3.00 ม.(รทก.) 4.ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงสะพานพุทธฯ ถึงบางนา ความสูง +2.80 ม.(รทก.) 5.ริมคลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความสูง +3.00 ม.(รทก.)

ในส่วนของแนวป้องกันตนเองของเอกชนหรือหน่วยงานอื่น ความยาวประมาณ 8.30 กม. ประกอบด้วย แนวป้องกันตนเองที่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ความยาวประมาณ 5.788 กม. เช่น เขื่อนป้องกันน้ำท่วมของกรมชลประทาน เขื่อนป้องกันน้ำท่วมของกองทัพเรือ เขื่อนป้องกันน้ำท่วมของธนาคารแห่งประเทศไทย เขื่อนป้องกันน้ำท่วมของศาสนสถานหรือศาลเจ้า และเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของเอกชนที่ดำเนินการก่อสร้างเอง เป็นต้น ซึ่งแนวป้องกันน้ำท่วมดังกล่าวมีความมั่นคงแข็งแรงสามารถป้องกันน้ำท่วมได้  และแนวป้องกันตนเองที่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ (แนวฟันหลอ) ความยาวประมาณ 2.512 กม. เช่น ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้า อู่จอดเรือ ร้านค้าริมน้ำ อาคารโกดังสินค้า เป็นต้น โดยปัจจุบันมีทั้งสิ้น จำนวน 14 แห่ง ในพื้นที่ 9 เขต ซึ่งสำนักการระบายน้ำ ได้เข้าดำเนินการเรียงกระสอบทราย เพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากและน้ำทะเลหนุนสูงเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2564 สำนักการระบายน้ำ ได้ดำเนินการเรียงกระสอบทรายเพื่อป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ ความยาวประมาณ 2.90 กม.

โดยวันนี้ (10 ต.ค.64) ฐานน้ำทะเลหนุน น้ำขึ้นเต็มที่เวลา 09.19 น. ระดับ +1.19 ม.รทก. สถานีบางนา ระดับน้ำสูงสุด +1.88 ม.รทก. เวลา 09.15 น. ระดับแนวป้องกัน +2.80 ม.รทก. ต่ำกว่าแนวป้องกัน 0.92 ม. สถานีปากคลองตลาด ระดับน้ำสูงสุด +2.06 ม.รทก. เวลา 09.30 น. ระดับแนวป้องกัน +3.00 ม.รทก. ต่ำกว่าแนวป้องกัน 0.94 ม. สถานีบางเขนใหม่ ระดับน้ำสูงสุด +2.17 ม.รทก. เวลา 09.45 น. ระดับแนวป้องกัน +3.50 ม.รทก. ต่ำกว่าแนวป้องกัน 1.33 ม.

ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตในพื้นที่ตรวจสอบความเรียบร้อยตามแนวเรียงกระสอบทราย รวมถึงติดตามระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่น้ำขึ้นสูงและน้ำทะเลหนุน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมถนนและพื้นที่ด้านใน
—–