ไทยร่วมเดินหน้าเต็มพิกัด มุ่งผลักดันแผนเจรจาอาร์เซ็ป ล่าสุดสามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้แล้ว 7 เรื่อง

สมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศ ร่วมหารือรอบพิเศษ ผลักดันแผนการเจรจาเพื่อนำไปสู่การสรุปผลภายใน ปีนี้ ในขณะที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-26 มกราคม 2562 ณ  กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ผลักดันแผนการทำงานเพื่อนำไปสู่การสรุปผลการเจรจาอาร์เซ็ปในปี 2562 ของอาเซียนที่ริเริ่มจากการนำเสนอของไทยโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปสำหรับปี 2562 ให้ชาติสมาชิกอาร์เซ็ป 16 ประเทศมุ่งไปในทิศทางเดียวกันตามเป้าหมายที่ผู้นำได้ตั้งไว้ ถึงแม้ว่าสมาชิกหลายประเทศมีกำหนดการการเลือกตั้งใหญ่ และบางประเทศมีการเลือกตั้งสภาสูง รวมทั้งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในช่วงมีนาคม – พฤษภาคม อาทิ ไทย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น จากสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความท้าทายให้กับการเจรจาอาร์เซ็ปในระดับนโยบาย ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้การเจรจาในระดับเทคนิค/ระดับเจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น เพื่อเร่งผลักดันการเจรจาให้สรุปภายในปีนี้

นายรณรงค์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการร่วมกันกำหนดแผนการทำงานที่มีเป้าหมายและระยะเวลาชัดเจนสำหรับการสรุปการเจรจาในแต่ละบทที่ยังคงค้างอยู่ นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นการเตรียมการสำหรับการประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 25 ที่จะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 19-28 กุมภาพันธ์ 2562 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ปสมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 ในวันที่ 2 มีนาคม 2562 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในขณะที่ไทยจะถือโอกาสการเป็นประธานอาเซียนผลักดันการเจรจาอาร์เซ็ปอย่างเต็มที่ และพร้อมที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทุกระดับในกรณีที่ไม่มีประเทศสมาชิกใดเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม

ทั้งนี้ สถานะการเจรจาอาร์เซ็ปล่าสุดสามารถสรุปข้อบทได้แล้ว 7 บท ได้แก่ บทเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ กฎระเบียบทางเทคนิค สถาบัน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยบทที่เหลือมีหลายบทที่ใกล้จะได้ข้อสรุป ได้แก่ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การระงับข้อพิพาท และการแข่งขัน อย่างไรก็ดี ยังเหลือเรื่องสำคัญที่สมาชิกต้องร่วมใจที่จะสรุปผลให้ได้ ได้แก่ ทรัพย์สินทางปัญญา การเงิน โทรคมนาคม การเยียวยาทางการค้า และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน นอกจากนี้ บทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะต้องใช้กลยุทธ์ในการเจรจาอย่างสูง เนื่องจากประเทศคู่เจรจาอาเซียนใช้กลยุทธ์ในการผูกประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กับบทอื่นๆ เช่น บทการลงทุนที่มีข้อบทการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ (PPRs) และบทการแข่งขัน จึงถือเป็นการผูกโยงประเด็นด้านนโยบายเพื่อเป็นการต่อรอง แต่ในขณะที่สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการให้สรุปบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในรอบการประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 25 ที่จะถึงนี้ ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้แบ่งแผนการเจรจาบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 25 ณ เมืองบาหลี ซึ่งจะเน้นการเจรจาประเด็นเชิงนโยบายที่รัฐมนตรีต้องตัดสินใจ และหลังจากนั้นจะยกประเด็นเชิงนโยบายขึ้นสู่การประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 7 ณ เมืองเสียมราฐ และ ระยะที่ 2 การประชุมอาร์เซ็ป ครั้งที่ 26 ณ เมืองเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งจะเป็นการเจรจาในระดับคณะทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางเทคนิค และกฎระเบียบที่ยังคงค้างให้ได้ข้อสรุปทั้งหมด ทั้งนี้ กลยุทธ์การเจรจาที่ผูกโยงระหว่างบทเพื่อการต่อรองเป็นกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้นกับบทอื่นอีก อาทิ การผูกโยงเรื่องการลดภาษีสินค้ากับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ดังนั้น หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจะต้องประสานงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างกลยุทธ์การเจรจาที่นำไปสู่ผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ

——————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์