รองอธิบดี พช. ปลื้ม “เครือข่ายศูนย์เรียนรู้” ครัวเรือนต้นแบบฯ โคก หนอง นา พช.ศรีสะเกษ เข้มแข็ง ฝากแนวคิด “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น แล้วแบ่งปัน” เป็นศูนย์เรียนรู้ยุคใหม่ มาตรฐานศาสตร์พระราชา ความรู้ ความสุข ปัญญา มีไว้แบ่งปัน

วันที่ 9-10 ตุลาคม 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าฯ การดำเนินงานโครงการพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ โคก หนอง นา พช. เน้นย้ำครัวเรือนต้นแบบฯ ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พช. เมื่อตนมีความสุขแล้วให้วางแผนแบ่งปันความรู้ ความสุข ปัญญา ให้ครอบคลุมในพื้นที่ทุกครัวเรือน นอกจากนี้ รองอธิบดีฯ พช. ได้ให้เกียรติปลูกทุเรียนภูเขาไฟ ร่วมกับนายอำเภอไพรบึง ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ณ แปลงครัวเรือนต้นแบบฯ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

ในการนี้ นายชัยยงค์ ผ่องใส นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้ น.ส.ธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนายอัศวณัฎฐ์ ชิณพันธ์ นักวิชาการผู้รับผิดชอบงานโคก หนอง นา พช. และนักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ ในการลงพื้นที่ติดตามครั้งนี้ เริ่มที่พื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ อำเภอไพรบึง โดยมีนายบุญญาฤทธิ์ เยี่ยมยอด นายอำเภอไพรบึง นางสุวรรณ จิตหนักแน่น พัฒนาการอำเภอไพรบึง นักวิชาการสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอไพรบึง และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) อำเภอไพรบึง เครือข่ายครูพาทำ และครัวเรือนต้นแบบฯ โคกหนองนา พช.ศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ และรายงานผลการดำเนินงานภาพรวมอำเภอไพรบึง การลงพื้นที่ติดตามแปลงครัวเรือนต้นแบบฯเริ่มที่แปลง 1) นายภัทรศักดิ์ สอนภักดี ครัวเรือนต้นแบบฯ บ้านหนองปิงปอง หมู่ที่ 7 ตำบลโนนปูน อ.ไพรบึง และ 2) แปลงนายอุดร ตอนศรี พื้นที่ 3 ไร่ บ้านตาเจา หมู่ที่ 9 ตำบลโนนปูน อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในวันนี้ภาพเครือข่ายครัวเรือนต้นแบบฯ โคก หนอง นา พช. ที่มาร่วมต้อนรับเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่แต่ละแปลงต้องดำเนินการ แปลงละ 3 ครั้ง เป็นกลยุทธ์ที่กรมการพัฒนาชุมชนอยากให้ครัวเรือนต้นแบบฯ ในลักษณะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ซึ่งมีกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปัน เป็นการพัฒนา “คน” นอกเหนือจากการพัฒนา “พื้นที่” ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ จึงได้ฝากให้ท่านที่เป็นผู้นำในชุมชน “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น” เมื่อมีความสุขในพื้นที่ ครอบครัวของตนเองแล้ว ให้วางแผนแบ่งปันความสุข ความรู้ ปัญญา ให้กับคนในชุมชน ตามมาตรฐานศาสตร์พระราชา ความรู้ ความสุข ปัญญา มีไว้แบ่งปัน เมื่อทุกคนมีความสุข มีความหวัง ก็จะเกิด “พลัง” งานพัฒนาชุมชน ต้องขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณเมื่อมีจิตวิญญาณ ควบคู่กับภูมิปัญญา ภูมิปัญญาเมื่อลงมือทำก็จะเกิดองค์ความรู้ เมื่อมีทุกอย่างประกอบกันทุกคนจะรู้เท่าทันโลก สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่เข้ามากระทบ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เราจะสามารถอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 และสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ในหลายๆพื้นที่ในภาคอีสาน พื้นที่แปลงโคก หนอง นา พช.สามารถรอดพ้นจากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นซึ่งเราเห็นได้จากภาพข่าว และสื่อออนไลน์อย่างชัดเจน โคก หนอง นา พช. คือโอกาสและทางรอด เป็นแนวทางการพัฒนา “คน” พัฒนา “พื้นที่” ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้อย่างแท้จริง