“สถาบันการบินพลเรือน” MOU ร่วมพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ในด้านการซ่อมบำรุงและการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน

วันที่ (28 มกราคม 2562) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน  (สบพ.) กับ บริษัท Airbus,  บริษัท Triumph Aviation Services Asia,  บริษัท Triumph Structures (Thailand)  และบริษัท Senior Aerospace (Thailand) โดยมี พลเรือตรี ปิยะ อาจมุงคุณ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือนMr. Jean François, LAVAL Executive Vice President VP Asia, Customer Affairs Asia, Airbus  Mr. Monty Richardson, President, Triumph Aviation Services Asia  GB Kohoutek, Head of Business Development Europe and Asia, Triumph Structures (Thailand) และ Mr. Simon Shale, Chief Executive Officer, Senior Aerospace (Thailand) เป็นผู้ร่วมลงนามใน MOU ครั้งนี้ ณ ห้องประชุมชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ

สำหรับพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน รวมทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย

  1. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และ บริษัท Airbus ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอากาศยานชั้นนำของโลก เรื่องการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ( EASA Part 147 ) รวมถึงหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี
  2. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และ บริษัท Senior Aerospace (Thailand) ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักในการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่มีคุณภาพสูง เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน และประสานความร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน
  3. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และ บริษัท Triumph Aviation Services Asia ซึ่งบริษัทมีพันธกิจหลักทางด้านการออกแบบ ผลิต และซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน เรื่องร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรม โดยเฉพาะด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน และร่วมมือในการสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน รวมถึงการให้ทุนการศึกษา แก่บุคลากรและนักศึกษาของสถาบันการบินพลเรือนในด้านการการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อนำเอาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศมาพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการบินของประเทศ
  4. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และ บริษัท Triumph Structures (Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและซ่อมแซมชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยาน เรื่องการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมด้านการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน การสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการซ่อมบำรุงอากาศยาน การจัดสัมมนาและการฝึกอบรมร่วมกัน หรือการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน รวมถึงการให้ทุนการศึกษาแก่บุคลากรและนักศึกษาของสถาบันการบินพลเรือนในด้านการการออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมบำรุงอากาศยาน

การลงนามบันทึกความเข้าใจทั้ง 4 ฉบับข้างต้น เป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่เร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและ  โลจิสติกส์ บริเวณพื้นที่ภายในสนามบินอู่ตะเภาให้เกิดเป็นรูปธรรม เพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชน รวมถึงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลก

สถาบันการบินพลเรือน เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม และสมาชิกประเภท Full Member โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ที่ผลิตบุคลากรด้านการบินมาแล้วกว่า 35,000 คน จาก 78 ประเทศทั่วโลก ในฐานะผ่านการตรวจประเมิน ทำให้สามารถรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิกในโครงการดังกล่าว เป็นวาระที่ 3 อีกทั้งกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับมาตรฐานจากเดิมขึ้นเป็น Regional Training Centre of Excellence (RTCE) ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และบุคลากรด้านการบิน โดยเฉพาะทางด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน และผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป ( EASA Part 147 ) อีกทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน กับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านการบิน เพื่อยกระดับขีดความสามารถ ตลอดจนตอบสนองต่อความต้องการของตลาดด้านอุตสาหกรรมการบินของประเทศ อันเป็นผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านการบินได้สำเร็จตามนโยบายของรัฐบาล

********************************