“ ยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เพิ่มพูนมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาคุณภาพชีวิน สู่ความมั่นคง ”

พช.เชียงราย – เชียงของ บูรณาการภาคีเตรียมหนุน OTOP และของดีประจำถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตมั่นคง ตามโครงการพัฒนาศูนย์ศึกษาพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ อนุรักษ์ดินน้ำป่า เฉลิมพระเกียรติ วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 นายทัศนัย สุธาพจน์ นายอำเภอเชียงของ เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจพัฒนาฐานข้อมูลและจัดทำกรอบแผนแม่บท และคณะทำงานการขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่ โครงการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ดินน้ำป่า เฉลิมพระเกียรติ วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม โดยมี นายภาสกร งามสมบัติ พัฒนาการอำเภอเชียงของ นายกฤตพน ปัญญาทา นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ นายณัฏฐกิตติ์ คำชุม นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ (พช.เชียงของ) และนางสาวกาญจนา เงาเงิน นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเชียงราย ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการทั้ง 2 คณะ พร้อมด้วยส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนในตำบลเวียง ตำบลริมโขง และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมในการประชุมดังกล่าว ณ ศาลาขาว วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

สำหรับการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจพัฒนาฐานข้อมูลและจัดทำกรอบแผนแม่บท และคณะทำงานการขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่ โครงการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ดินน้ำป่า เฉลิมพระเกียรติ วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม ในครั้งนี้ เป็นเป็นเวทีติดตามความก้าวหน้า การขับเคลื่อนโครงการฯ ตามบทบาทของแต่ละภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดแหล่งศึกษาเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย ตามวิสัยทัศน์การพัฒนาให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้พุทธเกษตรเชิงท่องเที่ยวดินน้ำป่าตามศาสตร์พระราชา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน” ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 โดยพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบบริเวณวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม 4 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่บริเวณวัด (พื้นที่ไข่แดง) 15 ไร่ 2) พื้นที่โครงการพัฒนาป่าไม้ (พื้นที่ไข่ขาว) 134 ไร่ 3) พื้นที่กันออกรอบวัด 78 ไร่ 4) พื้นที่บริเวณรอบนอกวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม และ 2.พื้นที่ขยายผล หรือพื้นที่โดยรอบที่ครอบคลุมตำบลริมโขง 10 หมู่บ้าน และตำบลเวียง 14 หมู่บ้าน โดยมีแผนแม่บทกำหนดโครงการ กิจกรรม รองรับทั้ง 2 พื้นที่ 5 มิติ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านดินน้ำป่า ด้านอาชีพเกษตร ด้านอาชีพหัตถกรรม และด้านท่องเที่ยววิถีพุทธ ซึ่งนำหลักการพัฒนาตามแนวทางของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ จังหวัดเชียงราย เพื่อขับเคลื่อนโครงการให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ในส่วนของบทบาท ทีม พช.เชียงราย นั้นอยู่ภายใต้แผนแม่บทในการส่งเสริมอาชีพหัตกรรม โดยนำเสนอต่อที่ประชุมถึงแนวคิดในการยกระดับคุณภาพชีวิต มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ดังพระราชดำรัสว่า “ระเบิดจากข้างใน” นั้นคือการสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาให้มีสภาพพร้อมที่จะรับการพัฒนา ด้วยการส่งเสริมภูมิปัญญา อัตลักษณ์ วัฒนธรรม อาทิ เรื่องราวของผ้าทอ เครื่องเงิน งานจักสาน และอาหารการกินของไทลื้อ และเหล่าชาติพันธุ์ที่โดดเด่นงดงาม เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งริเริ่มมาจากพลังใจของคนในท้องถิ่น โดยไม่ใช้งบประมาณ และขยายผล ผนวกเอานวัตกรรมสมัยใหม่หรือ “ตลาดออนไลน์” เข้ามาหนุนเสริม ทั้งนี้จุดหมายคือความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง ผ่าน 7 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” , โครงการสนับสนุนผ้าทอไทลื้อ, โครงการฝึกอบรมส่งเสริมการตัดเย็บผลิตภัณฑ์ผ้าปักม้ง, โครงการพัฒนาอาหารชนเผ่าอาข่า/ม้ง, โครงการพัฒนาอาหารชนเผ่าไทลื้อ, โครงการฝึกทักษะกลุ่มเครื่องเงิน, โครงการส่งเสริมกลุ่มจักสาน เหล่านี้เป็นโครงการที่ทีม พช.เชียงราย มีแผนจะดำเนินการพื้นที่ขยายผล หรือพื้นที่โดยรอบที่ครอบคลุมตำบลริมโขง และตำบลเวียง ทั้งนี้ จะเป็นการร่วมบูรณาการ รวบรวมสรรพกำลังจากทุกภาคี อาทิ เกษตรจังหวัด/อำเภอ วัฒนธรรมจังหวัด ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน เทศบาลตำบลเวียง องค์การบริหารส่วนตำบลริมโขง โรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ กลุ่มอาชีพ เป็นต้น โดยที่ผลสัมฤทธิ์ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจะสอดประสานได้อย่างลงตัวกับ 1 โครงการใหญ่ คือ โครงการจัดตั้งศูนย์จัดแสดงสินค้า (ในอาคารศูนย์บริการ) เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้ต้นแบบด้านศิลปหัตถกรรม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ภายในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบบริเวณวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม คาดประมาณว่าจะเกิดขึ้นในห่วงปี 2565 – 2567 ด้วยงบประมาณ 15,000,000 บาท อย่างไรก็ดี ในระยะอันใกล้นี้ พช.เชียงราย มีแผนในการนำร่องโดยการรวบรวมกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ OTOP และสินค้าภูมิปัญญาชุมชุน ที่เป็นของดีของขึ้นชื่อในอำเภอเชียงของ และเชียงราย นำมาจัดแสดงและจำหน่าย ในอาคารชั่วคราว บริเวณวัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เพื่อเตรียมการรองรับการท่องเที่ยววิถีพุทธ ที่มี วัดเทพนิมิตสุดเขตสยาม เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ และการเปิดเทศกาลท่องเที่ยวรับฤดูหนาวในปลายปีนี้

CDD Chiang Khong รายงาน
#เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ภายในปี 2565 Change for Good
#Chiang Khong The Best Destination เชียงของเมืองปลายทางแห่งความสุขที่หลากหลาย
#โครงการศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ดินน้ำป่า
#OTOP และของดีเมืองเชียงของ