“สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ดันขึ้นทะเบียน GI สำเร็จเกินเป้า 150 รายการ ครบ 77 จังหวัด ก่อนไตรมาส 4 ปีนี้ สร้างมูลค่าการตลาดให้ชุมชนกว่า 36,000 ล้านบาท

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เร่งรัดขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สำเร็จเกินเป้าหมาย โดยก่อนไตรมาส 4 ปีนี้ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 150 รายการ หลังผลักดันขึ้นทะเบียน GI
ครบ 77 จังหวัดสำเร็จ สร้างมูลค่าการตลาดไปแล้วกว่า 36,000 ล้านบาท ล่าสุดประกาศขึ้นทะเบียน GI ผลไม้ขึ้นชื่อของภาคใต้ 2 รายการ ได้แก่ “มังคุดในวงระนอง” ของจังหวัดระนอง และ “ส้มจุกจะนะ” ของจังหวัดสงขลาพร้อมตั้งเป้าปีงบประมาณ 65 ขึ้นทะเบียนต่อเนื่องอีก 18 รายการ

นายสินิตย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์มุ่งมั่นยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยระบบความคุ้มครอง GI ถือเป็นอีกกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนผ่านเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสินค้า ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาขานรับนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยหลังจากขึ้นทะเบียน GI ได้ครบ 77 จังหวัดสำเร็จไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมาสร้างมูลค่าการตลาดให้กับสินค้าชุมชนถึง 36,000 ล้านบาท ล่าสุดสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยก่อนไตรมาส 4 ของปีนี้สามารถขึ้นทะเบียน GI ไทยครบ 150 รายการ”

“ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ประกาศขึ้นทะเบียนสินค้า GI ผลไม้จากภาคใต้อีก 2 รายการ ได้แก่ “มังคุดในวงระนอง” และ “ส้มจุกจะนะ” ซึ่งเป็นสินค้ามีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน ทั้งในแง่ของคุณภาพ รสชาติ และลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างจากผลไม้ประเภทเดียวกันที่ปลูกในท้องถิ่นอื่น โดย “มังคุดในวงระนอง” เป็นมังคุดพันธุ์พื้นเมือง มีผลใหญ่ ผิวเปลือกมันเรียบ เมื่อสุกจะมีสีดำเนื้อมังคุดมีสีขาวปุยฝ้าย ไม่เป็นเนื้อแก้ว ไม่มียางไหล และไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวานนำอมเปรี้ยวเล็กน้อย ส่วน “ส้มจุกจะนะ” มีทั้งพันธุ์เปลือกหนาและพันธุ์เปลือกบาง ผิวมันวาว เปลือกล่อน มีกลิ่นหอมจากต่อมใต้เปลือกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว” นายสินิตย์กล่าว

ด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมทรัพย์สินทางปัญญาพร้อมขานรับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ โดยหลังจากสินค้าได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว กรมฯ ยังเดินหน้าผลักดันให้มีการจัดทำระบบควบคุมมาตรฐานสินค้า GI เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้า ตลอดจนส่งเสริมประชาสัมพันธ์และให้ความสำคัญกับการตลาดยุคใหม่ที่เน้นช่องทางออนไลน์ เพื่อให้สินค้า GI ไทยสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง สร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ชุมชนที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาขึ้นทะเบียน GI สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร.1368”
————————————–