ธ.ก.ส. จับมือกลุ่ม Bank of China ร่วมพัฒนาธุรกิจ และสร้างโอกาสทางการตลาดให้เกษตรกรไทย

ธ.ก.ส. ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศจีน สาขากว่างซี และธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) พัฒนาธุรกิจธนาคาร ทั้งการวางแผนเชิงกลยุทธ์ การตลาด นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจการชำระดุลการค้าต่างประเทศ การบริหารการเงิน รวมถึงสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ พร้อมพัฒนาการให้บริการด้านธุรกิจต่างประเทศเงินสกุล RMB (หยวน) เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ Smart Farmer และผู้ประกอบการภาคเกษตรไทย

นายรัตนะชัย ดำเนินสวัสดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ธนาคารแห่งประเทศจีน สาขากว่างซี (Bank of China Guangxi Branch) และธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน) (Bank of China (Thai) Public Limited (BOCT)) ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ด้านธุรกิจต่างประเทศ (Strategic Cooperation Agreement) เพื่อร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การตลาด นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ การจัดการสินทรัพย์และความรับผิด การจัดการความเสี่ยง การแบ่งปันทรัพยากรข้อมูล การจัดหาเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงธุรกิจการเงินองค์กร ธุรกิจตลาดระหว่างธนาคาร ธุรกิจตัวแทนการชำระเงิน และธุรกิจการชำระดุลการค้าต่างประเทศและการบริหารการเงิน

นอกจากนี้ ยังเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือกับกลุ่มธนาคาร Bank of China ด้านการชำระดุลและบริการโอนเงินระหว่างประเทศสกุลเงิน RMB หรือหยวน อย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย อีกทั้งมีการดำเนินการจับคู่ธุรกิจในและต่างประเทศ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่เข้าหาช่องทางการต่อยอดธุรกิจ และลูกค้าในประเทศที่มุ่งแสวงหาตลาดในต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศแบบไตรภาคี โดยใช้ประโยชน์ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ การประชุมสุดยอดจีน – อาเซียนว่าด้วยความร่วมมือและการพัฒนาทางการเงิน เสริมสร้างความร่วมมือพหุภาคี ส่งเสริมนวัตกรรมธุรกิจสกุล RMB ระหว่างประเทศ และอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนทวิภาคี

นายรัตนะชัยกล่าวอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้และพัฒนาการให้บริการด้านธุรกิจต่างประเทศสกุล RMB ของ ธ.ก.ส. อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรรายย่อยด้วยกลไก Smart Farmer ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (SMAEs) และสถาบันเกษตรกร และเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของลูกค้าต่อไป