กสม. ส่งความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ – ป่าชุมชน ถึง สนช.ย้ำหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๖๒ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๔๗ (๓) บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีหน้าที่และอำนาจเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบหรือคำสั่งใด ๆ ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ในการนี้ กสม. เห็นว่า ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. และ ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงได้มีความเห็นเพิ่มเติมต่อร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าว
ไปยัง สนช. สรุปได้ดังนี้

๑. ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ….

ประเด็นที่ (๑) การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือชุมชนในท้องถิ่น เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. มีการปรับปรุงหลักการให้ดีขึ้นกว่าพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ เนื่องจากการกำหนดเขต ขยายเขต หรือการเพิกถอนเขตพื้นที่อุทยานและพื้นที่อนุรักษ์ตามร่างมาตรา ๒๘ ต่างก็ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและชุมชนที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี เห็นว่า ควรมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนด้วย นอกจากนี้ ร่างมาตรา ๑๘ เกี่ยวกับการจัดทำแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติแต่ละแห่งยังคงเป็นอำนาจของหน่วยงานของรัฐและอธิบดี จึงเห็นควรให้กำหนดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลหรือชุมชนท้องถิ่น และกำหนดแผนที่เหมาะสมในการร่วมกันบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติระหว่างรัฐและประชาชนด้วย

ประเด็นที่ (๒) ความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น เห็นว่า ชุมชนเป็นหน่วยทางสังคมที่เข้มแข็งและ
มีบทบาทสำคัญในการจัดการและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. จึงควรกำหนดบทนิยามเกี่ยวกับชุมชนด้วย โดยควรที่จะให้บุคคลหรือชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๓ นอกจากนี้ ในส่วนของการคุ้มครอง บำรุง ดูแล และรักษาอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพื้นที่ชายฝั่งและทะเลในการดำรงชีพ การมีบทบัญญัติห้ามเข้าไปกระทำการบางอย่างในเขตที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ก็ควรกำหนดบทยกเว้นไว้สำหรับกรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะ และควรกำหนดครอบคลุมไปถึงกรณีของบุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยหรือพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติ
ในเขตพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหรือต่อมามีการขยายพื้นที่อุทยานแห่งชาติมาถึงด้วย

ประเด็นที่ (๓) การสร้างความชัดเจนในเรื่องของการทำกินของบุคคลและชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติในเขตอุทยานแห่งชาติ  มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. มาตรา ๖๓ วรรคสอง ที่กำหนดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือจากปัญหาไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ความช่วยเหลือที่บุคคลหรือชุมชนที่อยู่อาศัยและดำรงชีวิตในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติจะได้รับนั้น เป็นสิทธิหรือประโยชน์ประเภทใด และจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอย่างไร

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่า ร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. …. มาตรา ๖๓ ที่กำหนดให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาตินั้น ปรากฏว่า เงื่อนไขที่กำหนดกรอบในการตราพระราชกฤษฎีกายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการประกันสิทธิของบุคคลหรือชุมชนที่เป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ป่า หากเป็นเพียงเกณฑ์
การช่วยเหลือในเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ทำกินซึ่งอยู่ในกรอบทางเศรษฐกิจ ขาดการคำนึงถึงหลักการส่งเสริม
ให้ชุมชนดั้งเดิมช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมอันเป็นมิติทางวัฒนธรรม จึงควรนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เรื่อง แนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาใช้ประกอบการพิจารณากำหนดกรอบพระราชกฤษฎีกาด้วย

                ๒. ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. ….

ประเด็นที่ (๑) ร่างมาตรา ๓๑ ถึงมาตรา ๔๑ การจัดตั้งป่าชุมชน บัญญัติให้ชุมชนที่ประสงค์นำพื้นที่ป่ามาขอจัดตั้งป่าชุมชน ต้องยื่นแผนจัดการป่าชุมชนต่อคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาอนุญาตก่อนนั้น มีข้อกังวลว่า ชุมชน เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ชาวมันนิ อาจไม่มีโอกาสรับรู้ถึงวิธีการจัดทำแผนจัดการป่าชุมชนเสนอต่อรัฐก่อนใช้ประโยชน์ และอาจเป็นภาระมากเกินกว่าที่ชุมชนเหล่านั้นจะดำเนินการได้เอง ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. จึงจำเป็นต้องมีวิธีการอำนวยความสะดวกให้แก่ชุมชนเหล่านั้น เช่น บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมป่าไม้ร่วมช่วยเหลือในการเขียนแผนโครงการของชุมชนในพื้นที่

ประเด็นที่ (๒) ร่างมาตรา ๔๔ หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน เห็นควรเพิ่มหน้าที่ในการติดตามและประเมินผลการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในป่าชุมชนด้วย

ประเด็นที่ (๓) ร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. …. บัญญัติให้มีการตราอนุบัญญัติหลายมาตรา
ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการควบคุมต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การออกข้อห้ามมิให้กระทำการในป่าชุมชน รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งมีสัดส่วนกรรมการจากหน่วยงานของรัฐมากกว่าชุมชน โดยไม่ได้กำหนดหลักประกันความเป็นธรรมของประชาชนในการจัดทำร่างอนุบัญญัติไว้ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายลำดับรองควรเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง (เช่น กสม.) เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความคิดเห็นในการจัดทำร่างอนุบัญญัติเหล่านั้นด้วย

ประเด็นที่ (๔) ร่างมาตรา ๕๖ และมาตรา ๕๗ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าตอบแทนหรือค่าบริการจากบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกและการรับเงินบริจาคจากบุคคลภายนอกของป่าชุมชน มีข้อสังเกตว่า เงินดังกล่าวไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินและให้ตกเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของป่าชุมชน จึงเห็นควรบัญญัติให้คณะกรรมการจัดการป่าชุมชนต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน รายรับ – รายจ่ายของป่าชุมชนต่อสาธารณะด้วย
เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

 

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๒๓  มกราคม  ๒๕๖๒

 

สำนักส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชน

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร

โทร.  ๐ ๒๑๔๓ ๐๖๐๓, ๐๘ ๑๘๘๙ ๑๔๕๔