สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กระท่อม ความปลอดภัย และการใช้พื้นบ้าน

“กระท่อม” มีสรรพคุณทำให้มีกำลังวังชา ชาวบ้านนิยมนำใบมาเคี้ยวกินสดๆ ยามเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก หรือเมื่อร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเชื่อว่าสามารถลดอาการเจ็บปวด ช่วยให้ทนต่อความเจ็บปวดจากโรคที่เป็นอยู่ได้  บ้างก็นำใบอ่อนมาเคี้ยวรับประทานเล่นยามว่าง หรือรับประทานเป็นผักกับข้าว เพื่อช่วยให้ เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย และช่วยบำรุงสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายได้อีกด้วย

ชาวบ้านยังใช้กระท่อมเป็นยาช่วยฟื้นฟูร่างกาย และเพิ่มกำลังวังชาให้สตรีหลังคลอดใหม่ๆ โดยนำใบมาต้มกับน้ำให้เดือด แล้วนำมาดื่ม

ใบกระท่อมมีรสขมเฝื่อนเล็กน้อย ไม่ชวนรับประทาน แต่ถ้ารับประทานเพียงเป็นยา อย่าให้ถึงกับติด ก็จะมีคุณเป็นอันมาก แต่หากกินเป็นประจำทุกวันก็มีโอกาสติดได้ง่าย ถ้าไม่ได้กินแล้วจะไม่มีแรงทำงาน ขาดไม่ได้ จะเกิดอาการปวดเมื่อยตามกระดูก ตามข้อ ส่วนอาการอื่น ๆ ก็มีบ้างเล็กน้อย เช่น หงุดหงิดกระวนกระวาย ง่วงนอนหาวทั้งวัน แม้การใช้กระท่อมจะทำให้เสพติด แต่การถอนยานั้น หมอยาบอกว่าไม่ต่างจากการเลิกกินหมาก สามารถเลิกได้ง่าย และมีข้อแนะนำว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมควรดื่มน้ำตามมากๆ

ในตำรับยาไทย กระท่อม มีฤทธิ์ทางยาโดยเปลือกและใบ สามารถรักษาอาการท้องร่วง ปวดท้อง ลดอาการถ่ายเป็นเลือด รักษาโรคกระเพาะอาหารและยังเป็นส่วนประกอบในตำรับยาต่างๆ เช่น ประสะกระท่อม ยาแก้บิดลงเป็นเลือด ประสะกาฬแดง เป็นต้น

ในการศึกษาวิจัย พบว่า สารสกัดใบกระท่อมมีองค์ประกอบทางเคมีหลายกลุ่มได้แก่ Alkaloids, Flavonoids, Triterpenes, Phenolic compounds เป็นต้น

สารสำคัญที่พบในสารสกัดใบกระท่อม คือ Mitragynine เป็นสารกลุ่ม Indole alkaloids มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย ได้แก่ ฤทธิ์ลดการเจ็บปวด ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์กระตุ้นประสาท ฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า มีผลต่อความจำ ลดการหลั่งกรด ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก รวมไปถึงลดการอยากอาหาร ซึ่งได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยทั้งในหลอดทดลอง สัตว์ทดลองและในมนุษย์

ปัจจุบันมีการศึกษาเกี่ยวกับกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร Mitragynine รวมทั้ง มีการพัฒนาสูตรโครงสร้างของสารตัวนี้แล้วนำไปจดสิทธิบัตรแล้ว

สำหรับการได้รับกระท่อมในขนาดต่ำ (1-5กรัม) จะทำให้เกิดฤทธิ์กระตุ้น คือ รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัว  แต่เมื่อได้รับขนาดที่เพิ่มขึ้น (5-15 กรัม) จะมีความเคลิ้มสุข คล้ายกับการได้รับยาในกลุ่ม opinoid ลดปวด ง่วงนอน และสงบระงับ  แต่เมื่อ ได้รับกระท่อม มากกว่า 15 กรัม ขึ้นไป จะทำให้เกิดการกดประสาท และบางรายอาจหมดสติ

ตำรับยา

  • ยาชูกำลังทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อย ทำให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย จิตใจสงบ ลดอาการอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า ทำให้หลับสบาย เจริญอาหาร บรรเทาอาการเจ็บปวดต่างๆ ตามร่างกาย
  • ใช้ใบมาเคี้ยวรับประทานสด 1-2 ใบหรือกินร่วมกับหมากพลูและปูนแดง หรือนำใบสด 1-2 ใบต่อน้ำ 1 ลิตร มาต้มให้เดือด แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ ต่างน้ำ หรือเอาใบกระท่อมบดเป็นผง เอาเฉพาะที่เป็นผงละเอียดผสมน้ำผึ้ง ทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดพุทราไทย กินวันละ 1 เม็ด

ข้อควรระวัง /ความเป็นพิษ

  1. การศึกษาพิษของกระท่อมพบว่าผู้ที่ใช้ใบกระท่อมปริมาณมากเป็นเวลานาน พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้กระท่อม พบความเป็นพิษต่อตับ ไต และพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิต เมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นโดยเฉพาะกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
  2. ทำให้ท้องผูก เพราะมีรสฝาด แต่แก้โดยกินร่วมกับใบชุมเห็ด
  3. หากกินกระท่อมมากไปจะทำให้เมา มึนหัว วิงเวียน ซึม หลับ ดื่มน้ำสักพักหรือกินอะไรเปรี้ยวๆ ก็จะหาย
  4. อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนลงไปเป็นประจำ กากใบของกระท่อมจะไปอยู่ในลำไส้เรียกว่า ถุงท่อม
  5. กินประจำ ทำให้มีผิวเกรียมเพราะทนแดดมากไม่กลัวแดด แต่กลัวฝนเห็นฝนตั้งเค้าก็จะรู้สึกปวดเมื่อยขึ้นมาทันที

สาระน่ารู้

  1. ใบอ่อนกระท่อมกินเป็นอาหารได้ หรือนำใบอ่อนมารับประทานสด ย่างหรือนำมาลวกต้มจิ้มน้ำพริก น้ำบูดู รับประทานเป็นผักกับข้าว ข้าวยำ
  2. เมื่อเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการกระปรี้กระเปร่ามีความสุข ไม่รู้สึกหิว ทำให้มีแรงทํางานได้นานมากยิ่งขึ้น ทนต่อแดด แต่จะมีอาการวิตก กลัว และหนาวสั่น เวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน และถ้าเสพในปริมาณมากจะทําให้มีอาการมึนงง และคลื่นไส้อาเจียน แต่สำหรับบางคนเมื่อเคี้ยวเพียงแค่ 2-3 ใบ ก็อาจส่งผลทำให้รู้สึกเมาได้ ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน ควรปรึกษาหมอยาหรือผู้ใหญ่ทุกครั้งก่อนที่จะบริโภค
  3. ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล รวมถึงใช้สูบแทนฝิ่น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุมฝิ่นออกมาเพื่อลดการติดฝิ่น

ข้อมูลจาก : หนังสือบันทึกของแผ่นดิน ๑๒ กัญชา และผองเพื่อน สมุนไพรเพื่อระบบประสาทและจิตใจ โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร