รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ตรวจราชการและให้กำลังใจ “นครพนมทีม” ในการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน

วันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดการอบรมตามโครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) “ยกสะดุ้ง ท่าค้อท่าปลา” โดยมี นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม กล่าวรายงาน พร้อมทั้งมีผู้แทนนายอำเภอเมืองนครพนม ผู้อำนวยการกลุ่มงานทุกกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอเมืองนครพนม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ บริษัทนำเที่ยว สื่อมวลชน ผู้นำชุมชนตำบลท่าค้อ และกลุ่มเป้าหมายของการอบรม ประกอบด้วย คณะกรรมการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านท่าค้อ เข้าร่วมกิจกรรมฯ ณ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี บ้านท่าค้อ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบแนวทางการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในยุค Next Normal ความว่า “ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานเปิดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) วันนี้ ขอชื่นชมสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมและสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครพนม ที่จัดกิจกรรมขึ้นในครั้งนี้ เพื่อให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) โดยมีการออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ณ บ้านท่าค้อ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมืองนครพนม เพื่อเตรียมพร้อมบริการนักท่องเที่ยวและส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป กรมการพัฒนาชุมชน มีความยินดีที่จะให้การสนับสนุน และร่วมส่งเสริมให้กิจกรรมต่าง ๆ ดำเนินไปได้ด้วยดีอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันให้การส่งเสริม ต่อยอดในทุกด้าน เพื่อให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีการจัดการที่ดี และมีการอนุรักษ์ไว้ซึ่งทรัพยากร วิถีวัฒนธรรม และประเพณีในท้องถิ่น และขอขอบคุณท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าค้อ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชนทุกแขนง โดยเฉพาะชาวชุมชนบ้านท่าค้อ พื้นที่ใกล้เคียงทุกท่าน และขอให้ชาวบ้านท่าค้อทุกท่าน ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวในอนาคต เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019 (C0VID – 19) คลี่คลายลง”

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม กล่าวรายงานว่า “ขอขอบพระคุณท่านรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนเป็นอย่างสูง ที่ได้กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) ทั้งนี้ กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้และยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยบูรณาการแนวทาง D-HOPE (Decentralized Hand-On Program Exhibition) หรือการจัดนิทรรศการแบบกระจายที่ผู้ชมลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง ที่ได้รับแนวทางมาจากประเทศญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้เกิดกิจกรรมรองรับการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชน ทั้งในด้านของสถานที่ อาหาร วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมทั้งการร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชนเกิดการสร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน โดยใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชน”

จังหวัดนครพนม จัดทำโครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE) “ยกสะดุ้ง ท่าค้อท่าปลา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจัดทำโปรแกรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และรูปแบบกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ และประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการชุมชนและชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าค้อให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชน และดำเนินกิจกรรม ดังนี้
1) ชมวีดีทัศน์กิจกรรมเรียนรู้นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ (D-HOPE)
2) ชมความงามและกราบขอพร พระธาตุบูรพาจารย์ ณ วัดธารบุญญาวาส
3) ชมโปรแกรมหน่อไม้ดองอินทรีย์ ของดีบ้านท่าค้อ
4) สรุปกิจกรรมโดย สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองนครพนม และแลกเปลี่ยน ข้อเสนอแนะจากบริษัทนำเที่ยว โรงแรม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนต่อไป
5) ชม ช็อป สินค้าบ้านท่าค้อ

ทั้งนี้ กำหนดให้มีโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 11 โปรแกรม ได้แก่ การทำลูกประคบสมุนไพร การทำกระเป๋าสานจากเส้นพลาสติกและวัสดุธรรมชาติ การทำหน่อไม้ดองอินทรีย์ การทำบายศรี การทำมะนาวดองอินทรีย์ การทำข้าวต้มมัดสูตรโบราณ การทำขนมนางเล็ด การทำดอกไม้จากใบเตย นวดฝ่าเท้าที่ท่าค้อ แจ่วข่าท่าค้อท่าปลา และการทำปลาแปรรูป รวมทั้งส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วไป และผู้ที่สนใจเดินทางเยือนจังหวัดนครพนม

จากนั้น เวลา 11.00 น. รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล”แปลงพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบ รายนายประดิษฐ์ หนองอุดม อยู่บ้านดงยอ หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นครัวเรือนที่เข้ารับการฝึกอบรมความรู้ ของหน่วยงานกรมการพัฒนาชุมชน ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อกลับมาจากการอบรมทำให้มีแนวคิดและพลังในการลงมือพลิกพื้นที่ของตนเอง ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2563 ได้ลงมือปรับพื้นที่ปลูกสวนยางมาเป็น โคก หนอง นา และปลูกต้นไม้ 5 ระดับ สู้กับภัยแล้ง สร้างความมั่นคงในแหล่งทำกินด้านการเกษตร ปรับดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ให้หันกลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยปรับปรุงพื้นที่ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ห่มดินให้ดินเลี้ยงพืช มีพื้นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน มีหนองไว้รองรับน้ำฝนธรรมชาติ ตลอดจนมีการเลี้ยงสัตว์ ให้มีการเชื่อมโยงวงจรชีวิต พืช สัตว์ ให้เดินทางร่วมกันได้ ปัจจุบันครัวเรือนทำการปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงกบ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงหอยขม และเลี้ยงกุ้งฝอย ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ จนเหลือแบ่งปัน ที่สำคัญมีรายได้จากการขายพืชผักและสัตว์ ส่งผลทำให้ครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบดังกล่าว มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ประมาณ 20,000 – 30,000 บาท ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ดูได้จากบัญชีคุมรายรับจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ที่มีการบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

นายประดิษฐ์ หนองอุดม ครัวเรือนพื้นที่ต้นแบบ กล่าวว่า “ต้องขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้ให้โอกาสและความรู้จากการเข้าร่วมโครงการฯ กระผมรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่เป็นส่วนหนึ่งในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และจะพัฒนาต่อยอดให้เป็นศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ที่มีชีวิต สามารถให้บริการแก่ครัวเรือนในหมู่บ้าน ตำบล และพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดไป”

ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา – 2019 (COVID – 19) อย่างเคร่งครัด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่างตามมาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จังหวัดนครพนม
#WorldSoilDay
#GlobalSoilPartnership
#UNFAO
#กรมการพัฒนาชุมชน
#CDD
#SEPtoSDGs
#SDGforAll@Kmitl
นครพนม : เมืองแห่งความสุข
เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565
Change for Good