กรมอนามัย ปลื้ม ผลงาน ‘มหัศจรรย์คัดกรองมะเร็ง’ – ‘มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต’ คว้ารางวัลบริการภาครัฐ ปี 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย 2 ผลงาน “อสม. กับหุ่นเต้านมจำลองมหัศจรรย์คัดกรองมะเร็ง ลดเสี่ยงให้สตรีเขต 3” ของศูนย์อนามัย ที่ 3 นครสวรรค์ และ “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เขตสุขภาพที่ 9” ของศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา คว้ารางวัลบริการภาครัฐ ประจำปี 2564 พร้อมย้ำพัฒนาผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคนไทยมีสุขภาพที่ดี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 ที่ผ่านมา ผลงานกรมอนามัยได้รับรางวัลบริการภาครัฐทั้งระดับดีเด่นและระดับดีจำนวน 5 รางวัล ได้แก่ ระดับดีเด่น 1 รางวัล และระดับดี 4 รางวัล โดยผลงานระดับส่วนภูมิภาค ที่ได้รับรางวัลบริการภาครัฐ ประจำปี 2564 มี 2 ผลงาน ได้แก่ ผลงานเรื่อง “อสม. กับ หุ่นเต้านมจำลองมหัศจรรย์ คัดกรองมะเร็ง ลดเสี่ยงให้สตรีเขต 3” โดยศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ และผลงานเรื่อง “มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เขตสุขภาพที่ 9” โดยศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา ซึ่งทั้ง 2 ผลงาน ส่งผลให้งานด้านส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มวัยทำงานและกลุ่มแม่และเด็กยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับทุกกลุ่มวัยให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ทางด้านแพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า การดำเนินงานการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองของสตรีไทยในเขตสุขภาพที่ 3 ตั้งแต่ปี 2562-2564 ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการงานแผนบริการสุขภาพเครือข่ายระดับเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 3 มีการกำหนดนโยบายขับเคลื่อนการคัดกรอง มะเร็งเต้านมในชุมชนผ่านเจ้าหน้าที่ กลุ่มแกนนำ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และพัฒนาหลักสูตร การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยตนเองในแกนนำระดับพื้นที่ ประกอบด้วย ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมและการป้องกัน มีการฝึกทักษะการตรวจคัดกรองผ่านหุ่นเต้านมจำลอง และบันทึกการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองผ่านระบบ BSE Application ของกรมอนามัย ซึ่งศูนย์อนามัยที่ 3 ได้พัฒนาหุ่นเต้านมจำลองเพื่อเป็นเครื่องมือฝึกทักษะการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยตนเองในหลักสูตรการฝึกอบรมการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองในแกนนำ อสม. พื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 จำนวน 450 คน ผลการดำเนินงาน พบว่า ระดับความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมและการป้องกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 90.4 และทักษะการคัดกรองมะเร็งเต้านมของแกนนำอสม. ถูกต้องเพิ่มขึ้น ร้อยละ 92.5 สามารถเข้าใช้งานและลงทะเบียนในระบบ BSE Application ร้อยละ 100 จากผลการฝึกอบรมดังกล่าว แกนนำ อสม.สามารถนำไปขยายผลพร้อมสื่อสารให้สตรีไทยในชุมชนเข้าถึงและใช้งาน BSE Application ควบคู่ไปกับการแนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองกับหุ่นเต้านมจำลองเพื่อบันทึกการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองเพิ่มขึ้นจาก 450 คน เป็น 13,017 คน

ทางด้านนายแพทย์ประสาน ชัยวิรัตนะ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานด้านอนามัยแม่และเด็กของเขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา พบว่าประเด็นที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางาน ได้แก่

1) การฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์

2) การฝากครรภ์ 5 ครั้งตามเกณฑ์

3) หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง

4) หญิงตั้งครรภ์ได้รับไอโอดีนไม่เพียงพอ

5) ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม

6) เด็กกินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน

7) การได้รับยาน้ำธาตุเหล็ก

8) พัฒนาการเด็กปฐมวัย สมวัย

9) เด็ก 0-5 ปี สูงดีสมส่วน

โดยการดำเนินงานคุณภาพตามเกณฑ์ดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ ศูนย์อนามัยที่ 9 ร่วมกับเขตสุขภาพที่ 9 และศูนย์วิชาการในเขตฯ จึงได้มีการดำเนินงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิตขึ้น โดยมีคณะทำงานในพื้นที่ ทั้งระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรม การดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็ก อายุ 0-2 ปี ในพื้นที่ โดยมีกิจกรรมแบบองค์รวมทั้งมิติทางสุขภาพ และมิติทางสังคม ทั้งนี้ ผลผลิตเชิงประจักษ์ ได้แก่ การเกิด Miss 1,000 วัน และเครือข่ายในการดำเนินงานด้านอนามัยแม่และเด็ก รวมทั้งคณะกรรมการพัฒนาเด็กและครอบครัวในระดับต่าง ๆ การจัดทำแผนการดูแล (Care Plan) เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเป็นรายบุคคลและครอบครัว โดยเชื่อมโยงกับคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นต้น ส่งผลให้ประเด็นปัญหาอุปสรรคทั้ง 9 ประเด็นข้างต้น ได้พัฒนาขึ้นในทุกประเด็นและเห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการดำเนินงานในปี 2559 กับ ผลการดำเนินงานในปี 2563 เช่น หญิงตั้งครรภ์มาฝากครรภ์ครั้งแรกก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46.1 เป็น ร้อยละ 77.6 ทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า2,500 กรัม ลดลงจากร้อยละ 9.0 เป็นร้อยละ 6.6 เด็ก 0-5 ปี มีรูปร่างสูงดีสมส่วน จากร้อยละ 54.0 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 87.5 และเด็กมีพัฒนาการสมวัย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.1 เป็นร้อยละ 87.2 เป็นต้น