สตง. ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าเชิญชวนนิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไปที่มีแนวคิดใหม่ ไอเดียล้ำเข้าร่วมกิจกรรม “The Tomorrow’s Audit Hackathon” ชิงเงินรางวัลกว่า 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร หวังสร้างมิติใหม่ของการมีส่วนร่วมดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ดำเนินโครงการวิจัยเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ ภายใต้ยุทธศาสตร์การตรวจเงินแผ่นดิน (พ.ศ. 2562-2565) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กำหนดไว้ในด้านการส่งเสริมการศึกษาวิจัยที่มุ่งเน้นการพัฒนางานตรวจเงินแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกฝังจิตสำนึกในการสอดส่องดูแลรักษาเงินแผ่นดินและสาธารณสมบัติ  ดังนั้น สตง. จึงได้ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าจัดกิจกรรม “The Tomorrow’s Audit Hackathon” เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา หรือบุคคลทั่วไป (เดี่ยว หรือทีมละไม่เกิน 4 คน) ร่วมคิดค้นและสร้างสรร ค์ออกแบบ Platform ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ โดยทีมชนะเลิศจะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และทีมรองชนะเลิศ 2 รางวัล รางวัลละ 15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

“สำหรับ Platform ด้านการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ กำหนดภายใต้หัวข้อ “New Awareness, Quick Access, Safeness in Participation” (สร้างสำนึกใหม่ เข้าถึงเร็ว ปลอดภัยในการมีส่วนร่วม) โดยมีโจทย์ คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน โดยการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ ตลอดจนสามารถแจ้งเบาะแส ร้องเรียน หรือแจ้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ เช่น งบพัฒนา งบการบริการสาธารณะ บนฐานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าว

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย 5 หัวข้อ รวม 100 คะแนน ได้แก่

1) ตอบโจทย์ด้านการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนทั่วไป โดยนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้

2) ตอบโจทย์ด้านการเข้าถึงการแจ้งเบาะแส ร้องเรียน หรือ แจ้งปัญหาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐบนฐานเทคโนโลยีได้อย่างปลอดภัย

3) แนวทางในการดำเนินการ (Implementation Roadmap)

4) ความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติ

5) การบริหารเวลาการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564  โดยมีกำหนดการดำเนินงานดังนี้

  1. 1. ประกาศรายชื่อทีมที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมการแข่งขันในวันที่ 2 ตุลาคม 2564
  2. 2. จัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ก่อนการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) ในวันที่ 3 ตุลาคม 2564 โดยมีการบรรยายในหัวข้อ “บทบาทและความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ” และ “แนวทางการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาเงินแผ่นดินและทรัพย์สินของรัฐ” รวมถึงการให้คำปรึกษาแก่ทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
  3. 3. จัดกิจกรรมการแข่งขันและประกาศผลการแข่งขันผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2564

สำหรับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปสามารถรับชมการถ่ายทอดสด ทาง Facebook live ของ“สถาบันพระปกเกล้า” และ “สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน”