ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนธันวาคม 2561

การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2561 หดตัวที่ร้อยละ 1.72 หรือคิดเป็นมูลค่า 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลจากแนวโน้มการค้าชะลอตัว การส่งออกในสินค้าสำคัญสืบเนื่องจากข้อพิพาททางการค้า และแนวโน้มการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี อาทิ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์และแผงวงจรไฟฟ้า นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดสำคัญส่วนใหญ่มีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่ตลาดอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอาเซียน ขยายตัวต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจการค้าโลกปี 2562 การส่งออกสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวที่ ร้อยละ 6.6 โดยสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม กลับมาหดตัวที่ร้อยละ 0.8 สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่  สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ทองคำ ผลิตภัณฑ์ยาง และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปี 2561การส่งออกขยายตัวร้อยละ 6.7

มูลค่าการค้ารวม

                มูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือนธันวาคม 2561 การส่งออกมีมูลค่า 633,803 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 606,844 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.7 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 26,959 ล้านบาท รวมทั้งปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 8,093,441 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1) การนำเข้ามีมูลค่า 8,098,098 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7) และการค้าขาดดุล 4,657 ล้านบาท

                มูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนธันวาคม 2561 การส่งออกมีมูลค่า 19,381 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18,316 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หดตัวร้อยละ 8.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 1,065 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 252,486
ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7) การนำเข้ามีมูลค่า 249,232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5) และการค้าเกินดุล 3,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 6.6 (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 39.0 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย จีน และเมียนมา) ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวด้านราคาเป็นหลัก ขยายตัวร้อยละ 9.5 (ขยายตัวในตลาดเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเนเธอร์แลนด์) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.5 (ขยายตัวในตลาดสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์) สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา หดตัวต่อเนื่องทั้งด้านปริมาณและราคา หดตัวร้อยละ 32.3 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวได้ดีในสหรัฐฯ บราซิล และเยอรมนี) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวที่ร้อยละ 22.8 (หดตัวในตลาดจีน และไต้หวัน แต่ยังขยายตัวสูงในตลาดญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย) ข้าว หดตัวในด้านปริมาณขณะที่ด้านราคายังขยายตัว หดตัวร้อยละ 5.5 (หดตัวในตลาดเบนิน และแคเมอรูน แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ฟิลิปปินส์ และสหรัฐฯ) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัวร้อยละ 4.1 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอียิปต์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่น ลิเบีย และแอฟริกาใต้) กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 13.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ไต้หวัน และเวียดนาม แต่ขยายตัวในจีนในระดับสูง รวมทั้งขยายตัวดีในสหราชอาณาจักร) ภาพรวมของปี 2561 กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวร้อยละ 2.6

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 0.8  (YoY) หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 8.0 (ขยายตัวในตลาดจีน กัมพูชา อินโดนีเซีย และอินเดีย) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 23.0 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง) ทองคำ ขยายตัวร้อยละ 20.9 (ขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง เมียนมา และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 4.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และออสเตรเลีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 3.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เมียนมา และเวียดนาม) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 16.9 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย และญี่ปุ่น) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 40.4 (หดตัวในตลาดฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และสิงคโปร์ แต่ยังขยายตัวในญี่ปุ่น จีน และอินเดีย) เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 19.0 (หดตัวในตลาดหดตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ และเม็กซิโก แต่ยังขยายตัวในตลาดอินเดีย สหรัฐฯ และฮ่องกง) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หดตัวร้อยละ 25.8 (หดตัวในตลาดจีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาด ญี่ปุ่น เวียดนาม และซาอุดิอาระเบีย) ภาพรวมของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวร้อยละ 6.6

ตลาดส่งออกสำคัญ

การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวร้อยละ 0.5 โดยเฉพาะการหดตัวของการส่งออกไปสหภาพยุโรปที่ร้อยละ 5.0  อย่างไรก็ตามการส่งออกไปญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.7 และ 0.6 ตามลำดับ ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพหดตัวร้อยละ 3.5 ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการหดตัวของการส่งออกไปจีน อินเดีย และCLMV ที่ร้อยละ 7.3 12.9 และ 4.2 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปอาเซียน 5 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 8.0 ด้านตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 4.9 เนื่องจากการส่งออกไป ตะวันออกกลาง ทวีปออสเตรเลีย แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 16.0 7.6 5.9 และ 1.6 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไป สวิตเซอร์แลนด์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 298.3

ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 0.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ  อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.4

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.7 นำโดยสินค้าที่มูลค่าและใช้เทคโนโลยีในการผลิต เช่น โทรทัศน์และส่วนประกอบ (ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 84.9) รถยนต์และส่วนประกอบ (เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงสุดในเดือนนี้ที่ 130 ล้านดอลลาร์ สรอ.) เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น รวมทั้งการส่งออกไก่แปรรูปที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.0

ตลาดสหภาพยุโรป(15) หดตัวร้อยละ 5.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเป็นการหดตัวในตลาดหลายประเทศ  รถยนต์และส่วนประกอบ  เครื่องจักรกลฯ และเครื่องนุ่งห่ม ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ และรถจักยานยนต์ เป็นต้น รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.0

ตลาดจีน  หดตัวร้อยละ 7.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพาราซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาที่ยังคงหดตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ  ไม้และผลิตภัณฑ์ตามการให้ความสำคัญกับนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเนื่องจากอุปทานที่ไม่เพียงพอ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.3

ตลาดอาเซียน-5 ขยายตัวร้อยละ 8.0 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปฯ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำตาลทราย ข้าว และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยตลาดที่ขยายตัวสูงในเดือนนี้ประกอบด้วยสิงคโปร์และฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวร้อยละ 18.8 และ 9.9 ตามลำดับ รวมทั้งปี 2561 ตลาดอาเซียน-5 ขยายตัวร้อยละ 13.4

ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการหดตัวในตลาดกัมพูชา ขณะที่สินค้าอื่นๆ โดยภาพรวมยังคงขยายตัวดี สะท้อนถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทย โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์  ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.6

ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 17.6 โดยสินค้าสำคัญที่หดตัวมาจากปาล์มน้ำมันและอากาศยานเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ส่วนสินค้าอื่น อย่างเช่น อัญมณีและเครื่องประดับคาดว่าจะเป็นปัจจัยจาการเก็งกำไร ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ และเครื่องปรับอากาศฯ รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 11.9

ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 5.8 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และยางพารา เป็นต้น รวมทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.1

ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 16 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เครื่องปรับอากาศ รถยนต์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ ผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งปี 2561 หดตัวร้อยละ 5.0

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 7.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และ เครื่องปรับอากาศฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อากาศยานและส่วนประกอบ และข้าว รวมทั้งปี 2561 ขยายตัว
ร้อยละ 2.9

ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 1.6 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ และ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เม็ดพลาสติก รวมทั้งปี 2561 ขยายตัว
ร้อยละ 10.1

สรุปภาพรวมการส่งออกปี 2561

การส่งออกไทยขยายตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรกก่อนชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ตามภาวะการค้าในภูมิภาค จากปัจจัยความท้ายที่มีมากขึ้นจาก 1) ผลของสงครามการค้าที่ไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในตลาดสหรัฐและผลจากการที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน 2) ความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จากการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินในหลายประเทศ และ 3) ผลของฐานการส่งออกสูงในบางกลุ่มสินค้า

ตลาด

ในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวได้ทุกตลาด โดยเฉพาะอาเซียน และญี่ปุ่นขยายตัวระดับ 2 หลัก รวมถึงสหรัฐและสหภาพยุโรปต่างขยายตัวได้ดี ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังภาพรวมการส่งออกไทยบางตลาดเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งเป็นผลของสงครามการค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญกับจีน ได้แก่ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน รวมถึงปัจจัยความผันผวนของตลาดการเงินในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะตุรกี และอาเจนติน่า

สินค้า

กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัวในระดับต่ำเนื่องจากปัจจัยด้านราคา ในกลุ่มสินค้าสำคัญอย่างน้ำตาลและยางพารา รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะยางพารา และกุ้ง ขณะที่ ภาพรวมการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังขยายตัวแต่ปริมาณหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ อย่างไรก็ดี กลุ่มอาหารยังขยายตัวสูงต่อเนื่อง เช่น ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ทูน่ากระป๋อง ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และเครื่องดื่ม ขยายตัวได้ดีในกลุ่มประเทศ CLMV ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสินค้าสำคัญ 10 อันดับแรกขยายตัวทุกรายการ นำโดยกลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวสูงในเกือบ
ทุกตลาด
ตามทิศทางของราคาที่สูงขึ้นจากปีก่อน รถยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์

แนวโน้มการส่งออกปี 2562

            การส่งออกในปี 2562 มีแนวโน้มเผชิญความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงภายนอกโดยเฉพาะประเด็นข้อพิพาททางการค้า รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญมีแนวโน้มชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรจะอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากอุปทานและสต๊อกตลาดโลกอยู่ในระดับสูง ภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกจะขยายตัวในระดับต่ำก่อนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีหากสงครามการค้ามีแนวโน้มคลี่คลาย โดยวันที่ 18 ม.ค. 61 จีนประกาศยินยอมลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลา 6 ปี ระหว่างการเจรจาช่วงพักรบระหว่างสหรัฐฯและจีนเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศของการค้าโลกดีขึ้น และช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ส่งออกกลับมาได้ในช่วงสั้นๆ โดยกระทรวงพาณิชย์จะติดตามอย่างใกล้ชิด

กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายตัวของการส่งออกศักยภาพอื่นๆ เร่งหาตลาดใหม่ๆที่มีศักยภาพเข้ามาทดแทนเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 8 ปี 2562 อาทิ การขยายความร่วมมือทางการกับคู่ค้าศักยภาพ อาทิ เกาหลี และ ขยายความร่วมมือทางการค้าในภูมิภาคอาเซียน และ CLMV ในโอกาสการเป็นประธานอาเซียน การสร้างโอกาสการส่งออกโดยใช้กลยุทธ์ระดับพื้นที่ เจาะเมืองรองที่มีศักยภาพ รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์