วันจันทร์ที่ 20 กันยายน 2564 เวลา 08.30 น. ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ถนนเทพโยธี ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมให้ข้อมูลในการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ประจำปี พ.ศ. 2564 แก่ผู้จัดเก็บข้อมูล จปฐ. ชุมชนวัดเลียบ 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยมี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ที่รับผิดชอบดูแลภารกิจของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค) จังหวัดอุบลราชธานี นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นายบุญสม สีลาไหม พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี ตลอดจน นักวิชาการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบ จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี ร่วมดำเนินการฯ ทั้งนี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด
สำหรับข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) เป็นข้อมูลในระดับครัวเรือนที่แสดงถึงสภาพความจำเป็นพื้นฐานของคนในครัวเรือนในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำเอาไว้ ว่าคนควรจะมีคุณภาพชีวิตในแต่ละเรื่องอย่างไร ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ๆ โดยคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) มีมติ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2532 ให้กรมการพัฒนาชุมชน จัดเก็บข้อมูล จปฐ. เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ให้มีการปรับปรุงเครื่องชี้วัดข้อมูล จปฐ.ทุก 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนนำข้อมูล จปฐ./กชช.2ค ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาชนบททุกระดับ การกำหนดนโยบายแนวทางการปฏิบัติ รวมทั้งการอนุมัติโครงการและการติดตามการพัฒนาชนบทด้วย
โอกาสนี้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “การจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) จะดำเนินการเป็นประจำทุกปี ส่วนข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค) เป็นประจำทุกสองปี และคณะกรรมการอำนวยการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน (พชช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดและอำเภอ เป็นหน่วยดำเนินการบริหารการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการพัฒนาชุมชน (จปฐ./กชช.2ค) โดยกรมการพัฒนาชุมชน กำหนดรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลฯ ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการลดขั้นตอน ลดระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูล ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยกำหนดให้ดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)”
ด้าน นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานบริหารการจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) และข้อมูลพื้นฐานระดับหมู่บ้าน (กชช. 2ค) จังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “กำหนดการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. และกชช.2ค ของจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดให้จัดเวทีรับรองระดับอำเภอแล้วเสร็จและส่งข้อมูลแก่จังหวัดภายใน 26 กันยายน 2564 ก่อนตรวจสอบ ประชุมรับรองข้อมูลระดับจังหวัดฯ และส่งข้อมูลให้กรมการพัฒนาชุมชน ภายในวันที่ 28 กันยายน 2564 ตาม Roadmap ของกรมการพัฒนาชุมชน ต่อไป การดำเนินการในครั้งนี้ จึงถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญ และโอกาสอันดี ที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นต้นแบบในการจัดเก็บข้อมูลฯ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รวดเร็ว ผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และยังเป็นการช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้หน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบ และร่วมสนับสนุนการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จและทันตามกำหนด”
ขณะที่ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยหลังจากให้ข้อมูลความจำเป็นขั้นพื้นฐานของครัวเรือนว่า “ขอให้การบริหารการจัดเก็บข้อมูลฯ ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ที่ทันสมัย เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้ข้อมูล ครบถ้วน ถูกต้อง มีคุณภาพที่แท้จริง และเสร็จทันการตามระยะเวลาที่กำหนด สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และใช้ข้อมูลในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่าน ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน และขอให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวด้วยความห่วงใย