วันที่ 16 กันยายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี โดย นายภคิน ศรีวงศ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ประสานความร่วมมือกับ นายอัมพร วาภพ ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับจังหวัด จังหวัดอุบลราชธานี ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา ผ่านระบบ ZOOM Cloud Meeting จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี และตรวจเยี่ยมการขุดปรับพื้นที่แปลงต้นแบบระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) วัดป่าศรีแสงธรรม หมู่ที่ 5 บ้านดงดิบ ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ ของกรมการพัฒนาชุมชน ได้อำนวยอวยพรและให้ข้อคิดในการขับเคลื่อนโครงการฯ
สำหรับแปลงตัวอย่างวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ ในระยะเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากงบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 บนพื้นที่ 5 ไร่ ปัจจุบัน เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้กับเยาวชนและประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม พระนักพัฒนาชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี ได้ขยายผลเพื่อต่อยอดการดำเนินโครงการฯ โดยการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ ในรูปแบบ “โคก หนอง นา” เพิ่มอีกในเนื้อที่ 20 ไร่ ควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งเรียนรู้การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Socar Cell) นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้รัฐบาล ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย แปลงต้นแบบระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) 15 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนการขุดปรับพื้นที่จากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 51 (นพค.51 อำนาจเจริญ) หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้เเละฝึกปฏิบัติในสถานที่จริงแก่ผู้ที่สนใจในการทำ “โคก หนอง นา” ถือเป็นความร่วมมือในการพัฒนาชุมชนโดยใช้หลัก “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) เป็นกลไกพัฒนาและสร้างชุมชนให้เข้มแข็งก่อให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้
โอกาสนี้ เจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม ได้เมตตาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ศูนย์การเรียนรู้ “โคก หนอง นา พช.” วัดป่าศรีแสงธรรม หรือที่ตั้งฉายาให้คนจำง่ายว่า “โคกอีโด่ยวัลเล่ย์” ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นพื้นที่ห่างไกลปืนเที่ยงของบ้านดงดิบที่อยู่ห่างไกลความเจริญ และห่างจากตัวจังหวัดกว่า 100 กิโลเมตร แต่ยังมีความอุดมสมบูรณ์ และ Lanndmark ที่สำคัญจากโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงต้นแบบระดับตำบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) 15 ไร่ และโครงการฟาร์มตัวอย่าง อีก 20 ไร่ ที่ได้ขุดแปลงเกษตรเดิมของโรงเรียน จนได้รับพระราชทานชื่อเป็น “โครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังวัดป่าศรีแสงธรร” และได้ดำเนินการมาแล้วกำลังจะครบปี บัดนี้ ได้ขยายโครงการแปลง CLM เพิ่มเข้ามาในพื้นที่วัดอีก 15 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้โคก หนอง นา ระดับตำบล ของกรมการพัฒนาชุมชน และมีทหารจากหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 51 มาระดมขุดหนอง ทำเป็นโคกไว้ปลูกป่า รวมถึงได้รับสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการให้ความรู้ ฝึกอบรมประชาชนทั่วไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการโคก หนอง นา ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานี นั้น มีเกษตรกรเข้าโครงการฯ กว่า 4 พันแปลง
ขณะนี้ ทางวัดป่าศรีแสงธรรม ยังได้รวบรวมเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่รอบบริเวณวัดที่สนใจ ประมาณ 27 ครัวเรือน เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรม เพราะนักเรียนที่นี่ได้เป็นผู้ช่วยวิทยากรฝึกอบรมประชาชนทั่วไปหลักพันคนที่เข้ามาเรียนรู้ และนักเรียนเองยังมีชมรม 10 ฐานการเรียนรู้สู้ชีวิต พิชิตความยากจน ให้เป็นหลักสูตร “โคก หนอง นา” ในสถานศึกษา บูรณาการเข้ากับ 8 กลุ่มสาระวิชา ให้เป็นหลักสูตรโคก หนอง นา ในสถานศึกษา จึงเหมาะอย่างยิ่งที่นักเรียนจะเชื่อมโยงกับผู้ปกครอง โดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาชุมชนและใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาเยาวชน ใช้โคก หนอง นา เป็นฐานในการพัฒนาประชาชน/ชุมชนในการประกอบสัมมาชีพ มีหลักคิดหลักทำตามศาสตร์พระราชา หรือจะพูดว่ามีเป็นเป็นทุกอย่างของชุมชน หากจะกล่าวว่าเป็น “บวร” หรือบ้าน วัด ราชการ ที่ลงตัวที่สุดน่าจะเป็นที่นี่ ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน พัฒนาคนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติที่ทุกคนยังปรับตัวไม่ได้ หรือหันหาทางชีวิตใหม่ยังไม่เจอ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ของเรา ท่านได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาสืบสาน รักษา ต่อยอดให้ประชาชนได้เป็นที่พึ่งพอได้ยึดเกาะเบื้องต้นจะได้มีกิน มีใช้ มีที่อยู่ และสงบสุขร่มเย็นได้ ก่อนจะพัฒนาขึ้นไปสู่ความก้าวหน้าอีกต่อไป”
จากนั้น นายภคิน ศรีวงศ์ ผู้แทนพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานฝึกอบรมตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” กิจกรรมที่ 1 ฝึกอบรมเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา จุดอบรมวัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ ซึ่งมีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 17 คน แยกเป็นนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) 9 คน และครัวเรือนต้นแบบ 8 คน ในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี กำกับดูแลการฝึกอบรมฯ โดย นายอธิปัตย์ สลักคำ นักวิชาการพัฒนาชุมชนปฏิบัติการ และรับชมสัญญาณการถ่ายทอดสัญญาณผ่านระบบ ZOOM Cloud Meeting จากวิทยากรศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี ซึ่งเดิมจังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,960 ราย ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย แต่ภายหลังได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมอีก 106 ราย และส่วนหนึ่งได้มาฝึกอบรม ณ วัดป่าศรีแสงธรรม แห่งนี้ 25 ราย ดำเนินการระหว่างวันที่ 13-17 สิงหาคม 2564 เพื่อเพิ่มทักษะระยะสั้นการพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงรูปแบบ โคก หนอง นา ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยมี สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นหน่วยดำเนินการ “ขอกราบขอบพระคุณ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาวชิรโมลี ที่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ให้กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงประชาชนและคนในพื้นที่ ที่มาฝึกอบรมในครั้งนี้ ให้สามารถเป็นแกนนำขับเคลื่อนการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ โคก หนอง นา ในพื้นที่เป้าหมาย ส่งผลให้ชุมชนมีกระบวนการในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการสร้างทางรอดให้กับชุมชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้เกิดความยั่งยืนต่อไป” นายภคิน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ