รมว.สธ.มอบประกาศนียบัตรและปาฐกถาพิเศษผ่านการประชุมรูปแบบ virtual conference ในงานวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก และวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุขประกาศเป้าหมาย “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน” เนื่องในวัน World Patient Safety Day ครั้งที่ 3 พร้อมกับนานาประเทศทั่วโลกที่ตรงกับวันที่ 17 กันยายนของทุกปี และตรงกับวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทยที่ประเทศไทยจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

วันนี้ (17 กันยายน 2564) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบประกาศนียบัตร สำหรับโรงพยาบาลที่ประกาศนโยบาย 2P Safety จำนวน 147 แห่ง และปาฐกถาพิเศษผ่านการประชุมรูปแบบ virtual conference (บันทึกเทปเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564) เรื่อง “Patient and Personnel Safety ในสถานการณ์โควิด-19” และประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเรื่อง Patient and Personnel Safety
ในวัน World Patient Safety Day and Thailand Patient and Personnel Safety Day จัดโดยสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขอชื่นชมสถานพยาบาลทุกแห่งที่เข้ารับกิตติกรรมประกาศ 2P Safety Hospital ในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้บริหารและทีมงาน ในการพัฒนาระบบบริการที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับทุกคน โดยเฉพาะในสถานการณ์ Covid-19 โรงพยาบาลและทุกภาคส่วนในระบบสาธารณสุข ตระหนักและให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบเพื่อสร้างคุณภาพและความปลอดภัยของการบริการ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและญาติในการร่วมกันเป็นทีมเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ปลอดภัย มาโดยตลอด สอดคล้องกับในปีนี้องค์การอนามัยโลกให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของมารดาและทารกที่คลอด ซึ่งในสถานการณ์โควิดพบว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องมีการวางแผนในการดูแล ทั้งเรื่องการฉีดวัคซีน การดูแลระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด เพื่อ ให้แม่และลูกปลอดภัย ทั้งจากโควิดและอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆที่ป้องกันได้จากการดูแล ผมเชื่อว่ากระทรวงสาธารณสุข องค์กรวิชาชีพ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมกันวางแนวทางและสนับสนุนการดูแลมารดาและทารกให้ปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญ เช่น ในวันนี้ กรมอนามัย กรมการแพทย์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ และสรพ.ต่างมาร่วมกัน speak up เรื่อง Safe Maternal and Childbirth Care ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและทุ่มเทในการทำงานอย่างเสียสละของบุคลากรสาธารณสุข ทั้งในสถานการณ์โควิดหรือสถานการณ์ปกติ เพื่อดูแลผู้ป่วยและประชาชนให้มีความปลอดภัย ได้รับการดูแลรักษาที่ดีมีคุณภาพ รวมถึงคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของบุคลากร เป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังและมีการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง มีการขยายการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อสังคมและประชาชนในการก้าวร่วมเพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ที่ขยายออกนอกสถานพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลสนาม Hospitel ศูนย์พักคอย Community Isolation หรือการเสริมพลังให้ผู้ป่วยดูแลตนเอง แบบ Home Isolation ที่สะท้อนให้เห็นถึงการร่วมกันรับผิดชอบระบบบริการสาธารณสุขและสุขภาพของทุกคนร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และมีพลัง เห็นการขับเคลื่อนจาก จาก Patient and Personnel Safety ไป P ที่ 3 คือ People safety อย่างเด่นชัดในสถานการณ์โควิด หากพลังทั้ง 3 พลังนี้ร่วมกัน ผมเชื่อมั่นว่าระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยจะเป็นระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยอย่างยั่งยืนและขอชื่นชม สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนนโยบาย Patient and Personnel Safety หรือ 2P Safety โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนนโยบาย 2P Safety ที่ชัดเจนอย่างต่อเนื่องร่วมกันมาจนเป็นปีที่ 4 และเตรียมความพร้อมสู่การขับเคลื่อนต่อไป โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ “ประเทศไทยก้าวสู่ระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเพื่อทุกคน”