กรมอนามัย หนุนบังคับใช้กฎหมายไขมันทรานส์ ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข หนุนบังคับใช้กฎหมายไขมันทรานส์ ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2562 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการบังคับใช้กฎหมายฯ และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้ประกอบการ พร้อมแนะอ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ เลี่ยงกินอาหารทอด ลดขนมอบและเบเกอรี่ เพื่อลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมอาหารได้ ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ       เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มกราคม 2562 เพื่อคุ้มครองสุขภาพของคนไทย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้รับการชื่นชมจาก WHO เรื่องมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจน และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและสื่อสารถึงผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ อย.ได้จัดทำแผนตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง ณ สถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า และสถานที่จำหน่ายทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค หากพบการกระทำฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาท          ถึง 20,000 บาท

“ไขมันทรานส์ (Trans fat) ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพิ่มไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglyceride) เพิ่มระดับไขมันตัวร้าย แอลดีแอล-คอเลสเตอรอล(LDL- cholesterol) ลดระดับไขมันตัวดี เอชดีแอล-คอเลสเตอรอล (HDL- cholesterol) ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เพราะไขมันทรานส์ย่อยสลายได้ยากกว่าไขมันชนิดอื่น ทำให้ตับต้องย่อยสลายด้วยวิธีการที่แตกต่างไปจากการย่อยสลายไขมันตัวอื่น จึงอาจก่อให้เกิดภาวะผิดปกติกับร่างกาย ทำให้มีการอักเสบของผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง นอกจากนี้ยังส่งผลให้เสี่ยงต่อจอประสาทตาเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี และยังเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ การออกประกาศข้อบังคับทางกฏหมายฯ นี้นับเป็นมาตรการที่ดีที่ช่วยให้ผู้บริโภคลดโอกาสการบริโภคอาหารที่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ และลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทางด้าน ดร.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการกล่าวว่า FAO/WHO แนะนำว่าไม่ควรรับประทานกรดไขมันทรานส์มากกว่า 1% ประมาณ 2 กรัมต่อวันหรือไม่ควรบริโภคเป็นประจำ และควรรับประทานกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat)  น้อยกว่า 10 % หรือน้อยกว่า 18-22 กรัมต่อวัน หากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 7 % หรือน้อยกว่า 12-15.5 กรัมต่อวัน ไขมันอิ่มตัวเป็นอีกตัวหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพราะไขมันอิ่มตัวจะเพิ่มคอเลสเตอรอลโดยรวมในร่างกาย แต่ต่างจากไขมันทรานส์คือไขมันอิ่มตัวจะไม่ลดไขมันตัว  ที่ดี (HDL- cholesterol) จึงไม่ร้ายเท่าไขมันทรานส์ ซึ่งอาหารที่เคยมีส่วนประกอบของไขมันทรานส์จะผ่านกระบวนการเปลี่ยนโครงสร้างเป็นไขมันอิ่มตัวแทน ดังนั้น ควรเลี่ยงอาหารที่อุดมด้วยไขมันได้แก่ อาหารทอด ฟาสฟูดส์ ขนมอบและ    เบเกอรี่ ไขมันที่มาจากสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน เนื้อมันแทรก มันหมู หนังไก่ สะโพกไก่ เนย ชีส ไขมันที่มาจากพืช เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ครีมเทียม เป็นต้น ควรเลือกรับประทานอาหารไขมันอย่างเหมาะสม ลดอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ใช้น้ำมันที่ปรุงอาหารให้หลากหลายในปริมาณที่พอเหมาะไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หลีกเลี่ยงการกินน้ำมันโดยตรง เลี่ยงกินอาหารทอด ลดขนมอบและเบเกอรี่ อ่านฉลากโภชนาการทุกครั้งก่อนซื้อ และเพิ่มการกินผักและผลไม้รสหวานน้อยหลากหลายชนิดเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/