วันเยาวชนแห่งชาติเริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 ภายใต้คำขวัญ “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็น “วันเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อที่จะมุ่งเน้นให้เยาวชน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต และสามารถช่วยสร้างเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้ดำเนินการสรรหาและพิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ ที่ควรแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติ โดยมีผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ประจำปี 2564 รวมจำนวนทั้งสิ้น 94 ราย
การสรรหา พิจารณา คัดเลือก ประกาศยกย่องเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. เด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ
2. กลุ่มเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ (เด็กหรือเยาวชนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า กลุ่ม ชมรม ฯลฯ)
3. บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน 4. องค์กรที่ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน โดยจำแนกออกเป็น 11 สาขา ดังนี้
1) สาขากฎหมายและการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน การสนับสนุนสร้างสรรค์ผลงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพื่อเป็นประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน โดยการเผยแพร่ พัฒนา พิทักษ์ ปกป้อง คุ้มครอง ป้องกัน แก้ไขฟื้นฟูพฤติกรรมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน
2) สาขาการศึกษาและวิชาการ การสร้างผลงานในด้านความรู้ทางวิชาการ ทฤษฎี หรือแนวคิดในรูปแบบต่าง ๆ งานด้านการศึกษาและวิชาการครอบคลุม ด้านการสร้างและพัฒนาทักษะ มีเจตคติที่ดีและถูกต้องทางวิชาการ ฯลฯ
3) สาขากีฬาและนันทนาการ การสนับสนุนสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสุขภาพ เพื่อการแข่งขัน เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หรือเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันทำให้เกิดความสนุกสนานคลายเครียด และส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตและ
4) สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์ผลงานกิจกรรมที่ใช้ความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เทคโนโลยี
5) สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริม อนุรักษ์ พัฒนา การป้องกันและแก้ไขปัญหา ในเรื่องเกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6) สาขานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ การประดิษฐ์คิดค้น ประดิษฐ์ผลงานใหม่ที่มีคุณค่า หรือเป็นการดัดแปลงจากของเดิมให้ดีขึ้น
7) สาขาพัฒนาเยาวชน บำเพ็ญประโยชน์ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน การสร้างสรรค์กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการส่งเสริมสนับสนุนการให้เยาวชนมีบทบาทและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเป็นอาสาสมัคร คณะกรรมการ คณะทำงาน ฯลฯ
8) สาขาศิลปวัฒนธรรม ความสามารถ ทางสุนทรียภาพ หรือค่านิยม ที่พึงประสงค์ หรือความซาบซึ้งอติสุนทร หรือการสนับสนุน ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อนุรักษ์ พัฒนางานทางศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงวิถีการดำรงชีวิตที่เจริญงดงามตามหลักการศีลธรรม มีอารมณ์กระตุ้นประทับใจ
9) สาขาศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม การปฏิบัติชอบตามหลักธรรมทางศาสนา หรือการสนับสนุนสร้างสรรค์ผลงานการพัฒนาจิตใจตัวอย่าง เช่น ความกล้าทางศีลธรรม จริยธรรมและคุณธรรม
10) สาขาสื่อมวลชนเพื่อเด็กและเยาวชนที่ป้องกันปัญหาสังคม การติดต่อสื่อสาร การถ่ายทอดข้อมูล ข่าวสาร สาระบันเทิงค่านิยม ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว
11) สาขาอาชีพ การทำมาหากิน การหารายได้เป็นครั้งคราวหรือเป็นประจำทั้งปี การประกอบอาชีพที่เป็นประจำ เพื่อนำรายได้เลี้ยงชีพที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยได้ประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตราย และมียอดผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในปี 2564 นี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงงดจัดงาน “วันเยาวชนแห่งชาติ” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ และผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน ประจำปี 2564 จำนวน 94 ราย จะเข้ารับพระราชทานรางวัลในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2565 ต่อไป สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับวันเยาวชนได้ที่ Facebook กรมกิจการเด็กและเยาวชน Facebook วันเยาวชนแห่งชาติ Facebook ชมรมเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติและผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน และ www.dcy.go.th
………………………………………………………..