ลุงตู่ ห่วงใยพี่น้องลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังฝนตกหนักทำระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น

Featured Video Play Icon

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท หลังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุจากฝนตกหนักทางตอนบน สั่งทุกหน่วยงานเฝ้าระวังและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ โดยมีนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ รวมไปถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน(15ก.ย.64) มีปริมาณน้ำที่ไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ในเกณฑ์ 1,864 ลบ.ม./วิ กรมชลประทาน ได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งรวม 496 ลบ.ม./วิ พร้อมปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 1,423 ลบ.ม./วิ เพื่อควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +16.50 ม.(รทก.) ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่บริเวณลุ่มต่ำริมแม่น้ำน้อยนอกคันกั้นน้ำ ตำบลบ้านกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.75 เมตร ในช่วงวันที่ 15 – 18 กันยายน 2564 ทั้งนี้ หากมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณน้ำหลากเพิ่มขึ้น จะประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบต่อไป

กรมชลประทาน จะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกับบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ โดยมิให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมทั้งประสานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานกาณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการงานในด้านต่างๆ ร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด