วศ. จัดสัมมนาการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

วันที่ 14 กันยายน 2564 นายปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา เรื่อง “การจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสำหรับงานนวัตกรรม” ซึ่งในครั้งนี้เป็นวันที่สองของการสัมมนาฯ ต่อเนื่องจากการสัมมนาในวันที่ 7 กันยายน 2564 ที่เป็นการให้องค์ความรู้ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยรวม โดยการสัมมนาฯ ในครั้งที่สองนี้ จะยกระดับความรู้ในเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและแนวทางจัดการข้อพิพาท ตลอดจนแนวทางจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP Unit) จากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง ซึ่ง วศ. ได้รับเกียรติ จาก ดร.วรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา และผู้อำนวยการบริหารสถาบันอนุญาโตตุลาการ พร้อมด้วย ดร.ปภาพิต หิรัญสิริสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยนวัตกรรมและพันธมิตร มจธ. เป็นวิทยากร โดยมีบุคลากร วศ. เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting ตามนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้วลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ

ทั้งนี้ วศ. มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาองค์กรที่มีการสร้างงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมองค์กรเพื่อสร้าง High impact research เริ่มตั้งแต่คำจำกัดความต่างๆ ตลอดจนแนวทางการจัดการและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งให้ความสำคัญในการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา (IP Unit) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนผลงานจากการวิจัยพัฒนาอย่างถูกต้อง ทำให้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นมีมูลค่า มีการคุ้มครองในสิทธิ์ของเจ้าของผลงานและองค์กร ซึ่งองค์ความรู้และประสบการณ์ต่างๆของวิทยากรจะได้เป็นแนวทางในการปรับโครงสร้างและการออกระเบียบ กฏเกณฑ์ต่างๆ ขององค์กร เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ตามวิสัยทัศน์ของ กรมวิทยาศาสตร์บริการในการเป็นองค์กรนำในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคุณภาพเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจ และรองรับการเป็นองค์การมหาชนในอนาคต