“พลเอก ประวิตร” สั่งเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำชี หวังตัดยอดน้ำก่อนหลากกระทบประชาชน

รองนายกฯ ประวิตร สั่งการ สทนช. ลุยตรวจความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำชีรองรับน้ำหลาก กรณีเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ เร่งดันแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำ 4 แห่งตามผังน้ำ รับน้ำนองเพื่อจัดการน้ำท่วมเก็บใช้หน้าแล้ง ซึ่งเก็บกักน้ำได้กว่า 230 ล้าน ลบ.ม.

นายปรีชา สุขกล่ำ ที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝนนี้ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำยัง และความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ และงานขุดลอกในพื้นที่ลุ่มน้ำยังภายใต้งบบูรณาการฯ ปี 2564 ณ ประตูระบายน้ำบุ่งเบ้า ต.นาแซง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ว่า พื้นที่ลุ่มต่ำในลุ่มน้ำชีเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากที่ทางกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำร่วมกับ สทนช. ร่วมกันกำหนดขอบเขตเพื่อที่จะศึกษาพัฒนาเป็นพื้นที่น้ำนอง เพื่อรับน้ำเข้าในช่วงน้ำหลากและกักน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้ง รวม 4 พื้นที่ ได้แก่

1.พื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำยัง ครอบคลุม จ.ยโสธร และ จ.ร้อยเอ็ด ขนาดพื้นที่รับน้ำ 389,163 ไร่

2.พื้นที่ลุ่มต่ำชี 1 จ.ชัยภูมิ ขนาดพื้นที่รับน้ำ 1,899 ไร่

3.พื้นที่ลุ่มต่ำชี 2 จ.อุดรธานี ขนาดพื้นที่รับน้ำ 1,074 ไร่ ฃ

4.พื้นที่ลุ่มต่ำชี 3 จ.ร้อยเอ็ด และ จ.มหาสารคาม ขนาดพื้นที่รับน้ำ 2,127 ไร่

ซึ่งจากข้อเสนอแนะตามผลการศึกษาผังน้ำลุ่มน้ำชีในพื้นที่ลุ่มต่ำ เสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ พิจารณาศึกษาจัดทำระบบบริหารจัดการน้ำเข้า-ออก ในพื้นที่ที่เหมาะสมจะใช้กักน้ำ ระบายน้ำ ในลักษณะของพื้นที่น้ำนอง รวมทั้งพิจารณาด้านการชดเชยในกรณีที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ประชาชน ส่วนหน่วยงานผังเมืองให้นำข้อเสนอแนะด้านการใช้ที่ดินในพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่อาจมีน้ำขังในบางช่วงที่เสนอในผังน้ำไปปรับปรุงข้อกำหนดผังเมือง เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นที่ควบคุมการออกใบอนุญาตใช้ที่ดิน นำข้อกำหนดดังกล่าวไปบังคับใช้ต่อไป

“การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำตามที่หน่วยราชการวางเป้าหมายไว้ รวมทั้งพื้นที่ทางน้ำหลากที่มีลักษณะเหมาะสมมาพัฒนาเป็นพื้นที่ชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก และกักน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อใช้ในฤดูแล้ง จะช่วยบรรเทาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีได้ โดยในการศึกษาจัดทำผังน้ำพบว่า พื้นที่ข้างต้นสามารถชะลอน้ำ/กักน้ำได้ถึงประมาณ 230 ล้าน ลบ.ม” นายปรีชา กล่าว

ขณะเดียวกัน โครงการจัดทำประตูระบายน้ำเพื่อกักน้ำและระบายน้ำที่กรมชลประทานดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน สอดคล้องกับข้อเสนอแนะผังน้ำชีที่ดำเนินการอยู่หลายโครงการ เช่น ปตร.บุ่งเบ้า ปตร.กุดปลาเข็ง ฯลฯ รวมถึงยังมี “โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยลำน้ำยัง และลำน้ำชีตอนล่าง จังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด” เพื่อศึกษาขอบเขตพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่รับน้ำนองเพิ่มเติมในลุ่มน้ำยัง ซึ่งกรมชลประทานกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการศึกษาด้วย

สำหรับแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนในลุ่มน้ำชี บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด กรณีมีน้ำท่วมสูง กรมชลประทานมีแผนการชะลอน้ำจากแม่น้ำชีตอนบนที่เขื่อนมหาสารคามด้วยการลดบานระบายน้ำ และทำการควบคุมการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวน 23 แห่ง ด้านท้ายเขื่อนมหาสารคาม โดยจะปรับลดอัตราการระบายน้ำ และจะทยอยปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ สำหรับทางด้านแม่น้ำมูล กรมชลประทานจะทำการชะลอน้ำที่เขื่อนราศีไศลและเขื่อนหัวนา ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ โดยจะติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมปรับลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก จำนวน 57 แห่ง รวมไปถึงการชะลอน้ำในลำเซบายและลำเซบก จ.อุบลราชธานี รวมทั้งลำโดมใหญ่ และลำน้ำสาขาอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมกับเฝ้าระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ M.7 นอกจากนี้ ให้เร่งพร่องน้ำในแม่น้ำมูล เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำมูลให้ลดลงต่ำ เพื่อรองรับน้ำฝนที่จะตกในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. โดยการลดน้ำหลากจากตอนบน เร่งระบายน้ำท้ายน้ำล่วงหน้าด้วย.

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
14 กันยายน 2564