สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ก.ย. 64
+ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่งพายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
+ แม่น้ำสายหลัก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และแม่น้ำโขง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง
+ ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 45,139 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,490 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 6 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 6 แห่ง (อ่างฯ แม่มอก อ่างฯ ลำตะคอง อ่างฯ ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน อ่างฯ ขุนด่านปราการชล และอ่างฯ นฤบดินทรจินดา)
+ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามการบริหารจัดการน้ำเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนัก
กรมชลประทาน เนื่องจากมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,300-1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที และต้องเพิ่มปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 800-1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน โดยเฉพาะพื้นที่ตลิ่งต่ำบริเวณริมแม่น้ำน้อย ในช่วงวันที่ 13-16 ก.ย.64 บริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยาจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50 ม. หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที จะแจ้งให้ทราบต่อไป
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสานแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำแล้ว
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดเตรียมความพร้อม รับมือสถานการณ์ โดยติดตามสถานการณ์ของจังหวัดเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ การระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำ และสถานการณ์น้ำของจังหวัดพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อวิเคราะห์คาดการณ์และประเมินแนวโน้มสถานการณ์เพื่อวางแผนปฏิบัติการและแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า และให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ
กอนช. เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยพร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์