สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ก.ย. 64
+ ทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
+ พายุโซนร้อน “โกนเซิน” ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว และได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณเมืองกวางงาย ประเทศเวียดนามในระยะต่อไป
+ แม่น้ำสายหลัก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และแม่น้ำโขง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง
+ ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 44,649 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,490 ล้าน ลบ.ม. (55%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 10 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 6 แห่ง (อ่างฯ แม่มอก ลำตะคอง ลำพระเพลิง อ่างฯ มูลบน ขุนด่านปราการชล และอ่างฯ นฤบดินทรจินดา)
+ วันที่ 12 ก.ย.64 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมนำคณะลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ จ.สมุทรปราการ เพื่อติดตามความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ณ สะพานน้ำยกระดับ สถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.เมือง จ.สมุทรปราการ พร้อมหารือหน่วยเกี่ยวข้องวางแผนป้องกันผลกระทบพื้นที่ที่อาจได้รับอิทธิพลจากพายุ “โกนเซิน”
+ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 10/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นทางระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ให้หน่วยงานดำเนินการเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรง และพายุโซนร้อนกำลังแรง “โกนเซิน” (CONSON) บริเวณทะเลจีนใต้ ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังอุทกภัย ในช่วงวันที่ 12–16 ก.ย.64 ดังนี้
– ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ
– บริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้หน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก และเร่งระบายน้ำในแม่น้ำ สำหรับคลองชายทะเลให้พร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 30 เพื่อรองรับฝนตกหนักในพื้นที่และน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน
– หากเกิดน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ใด ให้พิจารณาปรับลดการระบายน้ำอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้มากที่สุด และใช้อาคารชลศาสตร์จัดจราจรน้ำเพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและเร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว