ขมิ้นชัน…อย่าลืมฉัน (ในวันที่เธอพบมะเร็ง)

ถ้าจะพูดถึงสมุนไพรสักหนึ่งชนิดที่มีงานวิจัยรองรับค่อนข้างมากในเรื่องของมะเร็ง สมุนไพรตัวนั้นก็คือ “ขมิ้นชัน”

งานวิจัยพบว่าในประเทศที่มีการรับประทานขมิ้นชันเป็นประจำในอาหาร (เฉลี่ย 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน) จะมีอัตราการเป็นมะเร็งน้อยมาก

– ชนิดของมะเร็งที่มีการศึกษาในหลอดทดลอง***แล้วพบว่าขมิ้นชันสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งและป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งได้ คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งผิวหนัง มะเร็งศีรษะและลำคอ

สารออกฤทธิ์สำคัญของขมิ้นชันมีชื่อว่า เคอร์คิวมิน” (Curcumin) เป็นสารจากธรรมชาติในกลุ่มโพลีฟีนอล ซึ่งมีการศึกษาวิจัยมาตั้งแต่ก่อนหน้าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ว่าสารดังกล่าวสามารถป้องกันและรักษามะเร็งได้

กลไกต้านมะเร็งของขมิ้นชัน มีหลายกลไก คือ

– กดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือเนื้องอก

มีหลักฐานเชิงประจักษ์เบื้องต้น ว่าขมิ้นชันสามารถกดการเจริญเติบโตของมะเร็งทั้งในระยะเริ่มต้น หรือระยะลุกลาม/แพร่กระจาย

– ยับยั้งกระบวนการอักเสบในระดับยีนส์ ซึ่งการอักเสบเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็ง มีผลลดการจับของตัวรับบางชนิด ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณที่จะไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง

– มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบได้สูงมาก

– ขมิ้นชันช่วยเสริมฤทธิ์ยามะเร็งบางชนิด ให้มีประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น ยามะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยเกิดการดื้อยา เช่น เสริมฤทธิ์ cisplatin / carboplatin ในมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ ขมิ้นชันเองก็สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งได้ด้วย (synergistic)

บทสรุปของการศึกษานี้ได้แนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งรับประทานขมิ้นชันในอาหารมากขึ้น หรือทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากขมิ้นชัน เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้น

***ควรระวังการใช้ขมิ้นชัน ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจากอาจมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว

ศูนย์วิจัยมะเร็งที่อังกฤษ (Cancer Research UK) ให้ข้อมูลไว้ว่า

– มีการทดสอบให้ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งที่อวัยวะต่างๆกัน จำนวน 25 ราย ได้รับขมิ้นชัน พบว่าขมิ้นชันสามารถหยุดยั้งรอยโรคดังกล่าวไปสู่การมะเร็งได้

– ในปี 2013 พบว่าการให้ขมิ้นชันร่วมกับคีโม ให้ผลการรักษามะเร็งทางเดินอาหาร ดีกว่าการได้รับคีโมอย่างเดียว (มีนักวิจัยพบว่าขมิ้นชันสามารถคงอยู่ในระบบทางเดินอาหาร และดูดซึมเข้าไปอยู่ในเซลล์ระบบทางเดินอาหาร แต่อยู่ในเลือดน้อยมาก)

– การศึกษาที่ Puerto Rico พบว่าขมิ้นชันช่วยให้รอยโรคที่จะก่อมะเร็งทางเดินอาหารฝ่อ ในผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเสี่ยงเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร

– ในปี 2007 ชาวอเมริกาพบว่าขมิ้นชันช่วยหยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมในหนูทดลอง

– ในปี 2008 การศึกษาที่สหรัฐอเมริกาพบว่า ขมิ้นชันช่วยทำให้ผู้ป่วย 2 รายใน 25 รายมีการฝ่อของเซลล์มะเร็งหรือเซลล์มะเร็งหยุดการเจริญเติบโต

****แต่ก็ยังไม่ได้มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันให้ชัดเจนว่าขมิ้นชันจะสามารถป้องกันหรือรักษามะเร็งให้หายขาดได้

การศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่าขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง

จากงานวิจัยที่มีมา จึงเชื่อว่าขมิ้นชันจะมีศักยภาพสูงที่จะนำมาใช้เป็นสมุนไพร หรืออาหารส่งเสริมสุขภาพในการป้องกันและทางเลือกเสริมรักษามะเร็ง

ข้อห้ามใช้:

ห้ามใช้ในผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน หรือผู้ที่ไวต่อยานี้

ข้อควรระวัง:

– ควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์

– ควรระวังการใช้กับหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์

– ควรระวังการใช้กับเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัย

– ควรระวังการใช้ยานี้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)

แหล่งอ้างอิง

– บัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชียาจากสมุนไพร 2561

– YT w, HS L and CL S. Curcumin-enhanced chemosensitivity of FDA-approved platinum (II)-based anti-cancer drugs involves downregulation of nuclear endonuclease G and NF-κB as well as induction of apoptosis and G2/M arrest. Int J Food Sci Nutr[internet]. 2014 [เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2561]; ;65(3):368-74. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24438326

– cancerresearchuk.org [Internet]. Turmeric[เข้าถึงเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2561]. Available from: http://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/complementary-alternative-therapies/individual-therapies/turmeric